กำเนิดเครื่องรางของขลัง

กำเนิดความเป็นมาเครื่องรางของขลัง

จากบันทึกในตำราพิชัยสงครามกล่าวว่า นักรบจะมีเครื่องรางของขลังติดตัวเพื่อสร้างผลให้เกิดเป็นมงคล คงกระพัน แคล้วคลาด ยามออกศึกสงคราม โดยมีหลากหลายชนิด หลายลักษณะ ซึ่งมักจะได้รับมาจากพระสงฆ์ซึ่งชาวบ้านนับถือ มีจิตญาณสูง เก่งทางวิชาอาคม และนักรบจะมีความเชื่อต่อของขลังนั้นๆ อย่างมั่นคง จะเห็นได้จากการสืบทอดสรรพตำราตกทอดกันมาหลายรุ่นหลายสมัย ซึ่งเครื่องราง สามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทต่างๆดังนี้

เครื่องรางของขลัง

แบ่งตามการเกิดมาของเครื่องราง ได้แก่

  1.   เป็นสิ่งที่เกิดมาจากธรรมชาติ ไม่มีการสรรค์สร้าง ถือว่ามีดีในตัวและมีเทวดารักษาสิ่งนั้น เช่น เหล็กไหล คดต่างๆ เขากวางคุด เขี้ยวหมูตัน เขี้ยวเสือกลวง เถาวัลย์ ฯลฯ
  2.   เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่ ด้วยการนำแร่ธาตุต่างชนิด มาหลอมตามสูตรการเล่นแร่แปรธาตุในสมัยก่อน เช่น เมฆสิทธิ์ เมฆพัดเหล็กละลาย ตัวสัมฤทธิ์นวโลหะ สัตตะโลหะ ปัญจโลหะ เป็นต้น ทั้งนี้ครอบคลุมไปถึงเครื่องรางลักษณะต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงน์คุ้มกันภัยอันตราย

เครื่องรางของขลัง

 เครื่องคาด อันได้แก่เครื่องรางที่ใช้คาดศีรษะ คาดเอว และคาดแขน ฯลฯ

  1.   เครื่องสวม อันได้แก่เครื่องรางที่ใช้สวมคอ สวมศีรษะ สวมแขน สวมนิ้ว ฯลฯ
  2.   เครื่องฝัง อันได้แก่เครื่องรางที่ใช้ฝังลงไปในเนื้อหนังของคน เช่น เข็มทอง ตะกรุดทอง ตะกรุดสาลิกา (ใส่ลูกตา) และการฝั้งเหล็กไหลหรือฝังโลหะมงคลต่างๆ ลงไปในเนื้อ จะรวมอยู่ในพวกนี้ทั้งสิ้น
  3.   เครื่องอม อันได้แก่เครื่องรางที่ใช้อมในปาก อาทิเช่น ลูกอม ตะกรุดลูกอม (สำหรับในข้อนี้ไม่รวมถึงการอมเครื่องรางชนิดต่างๆ ที่มขนาดเล็กไว้ในปาก เพราะไม่เข้าชุด)

แบ่งตามวัสดุของเครื่องราง ได้แก่

  1.   โลหะ
  2.   ผง
  3.   ดิน
  4.   วัสดุอย่างอื่น เช่น กระดาษสา ชัน โรงดิน ขุยปู
  5.   จากสัตว์ เช่น เขี้ยวสัตว์ เขาสัตว์ งาสัตว์ เล็บสัตว์ หนังสัตว์
  6.   จากชิ้นส่วนคนตาย เช่น ผมผีพราย ผ้าตราสัง ผ้าห่อศพ ผ้าผูกคอตาย
  7.   จากทั่ว ๆ ไป เช่น ผ้าทอ

เครื่องรางของขลัง

แบ่งตามรูปแบบลักษณะที่เห็นของเครื่องราง ได้แก่

  1.   เพศชาย อันได้แก่ รักยม กุมารทอง ฤๅษีพ่อเฒ่า ชูชก หุ่นพยนต์พระสีสแลงแงง และสิ่งที่เป็นรูปของเพศชายต่างๆ
  2.   เพศหญิง อันได้แก่ แม่นางกวัก แม่พระโพสพ แม่ครีเรือน แม่ซื้อ แม่หม่อมกวัก เทพนางจันทร์ พระแม่ธรณี และสิ่งที่เป็นรูปของ ผู้หญิงต่างๆ
  3.   สัตว์ ในที่นี้หมายถึงพระโพธิสัตว์ อาทิ เสือ ช้าง วัว เต่า จระเข้ งู ดังนี้เป็นต้น…

เครื่องลางของขลัง

แบ่งตามขั้นลำดับและระดับชั้นของการปลุกเสกเครื่องราง ได้แก่

  1.   เครื่องรางชั้นสูง อันได้แก่ เครื่องรางที่ใช้บนส่วนสูงของ ร่างกายซึ่งนับตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงบั้นเอว สำเร็จด้วยพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
  2.   เครื่องรางชั้นต่ำ อันได้แก่ เครื่องรางที่เป็นของต่ำ เช่น ปลัดขิก อีเป๋อ (แม่เป๋อ) ไอ้งั่ง (พ่องั่ง) ไม่ได้สำเร็จด้วยของสูง
  3.   เครื่องรางที่ใช้แขวน อันได้แก่ ธงรูปนก รูปตั๊กแตน รูปปลาหรือกระบอกใส่ยันต์ และอื่นๆ

เมื่อเราแบ่งแยกออกเป็นหมวดหมู่ให้เห็นกันง่ายๆ ขึ้นแล้ว เราก็ต้องมาทำความเข้าใจกันว่า ที่มาของการสร้างเครื่องรางนั้นแต่เดินสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร ซึ่งขออธิบายง่ายๆ คือ ในสมัยก่อนนั้นโลกยังไม่มีศาสนา มนุษย์รู้จักเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเท่านั้น เช่นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และดาวตกหรือแม้กระทั่งไฟ

ดังนั้นเมื่อคนสมัยก่อนเห็นพระอาทิตย์มีแสงสว่างก็เกิดความเคารพ แล้วเขียนภาพดวงอาทิตย์ไว้ในผนังถ้ำ เพื่อให้เกิดความอุ่นใจในยามค่ำคืน เมื่อเขียนใส่ผนังถ้ำแล้วก็มาสลักลงบนหินเพื่อติดตัวไปมาได้ ก็กลายเป็นเครื่องรางไปโดยบังเอิญ ต่อมาเมื่อรู้จักไฟก็คิดว่าไฟเป็นเทพเจ้า เกิดการบูชาไฟ ทำรูปดวงไฟ

ต่อมาเมื่อมีการเดินทางมากได้พบเห็นสิ่งประหลาดต่างๆ เช่น นก ที่มีรูปร่างประหลาด ก็คิดว่าเป็นเทพ จึงสร้างรูปเคารพของเทพต่างๆและค่อยๆ เปลี่ยนรูปมาเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากประเทศอียิปต์ กรีกและโรมัน เพราะเป็นประเทศที่มีเครื่องรางมากมาย

ต่อมาในช่วงพุทธกาลราวเมื่อ 2,000 ปีเศษ ศาสนาพราหมซึ่งถือเอาพระผู้เป็นเจ้าเป็นสรณะก็บังเกิดขึ้น พระผู้เป็นเจ้านั้นคือพระศิวะ พระนารายณ์ พระพรหม และเมื่อต้องการความสำเร็จผลในสิ่งใด ก็มีการสวดอ้อนวอนอันเชิญ ขออำนาจของเทพเจ้าทั้งสามให้มา บันดาลผลสำเร็จที่ต้องการนั้นๆ การกระทำดังกล่าวนี้ จะต้องมีเครื่องหมายทางใจเพื่อการสำรวม ฉะนั้นภาพจำหลักของเทพเจ้าจึงมีกิดขึ้น จะเห็นได้จากรูปหะริหะระ” (HariHara) แห่งประสาทอันเดต (PrasatAndet) ที่พิพิธภัณฑ์เมืองพนมเปญ อันเป็นภาพจำหลักของพระนารายณ์ในศาสนาพราหมณ์ หรือเทวรูปมหาพรหมแห่งพิพิธภัณฑ์กีเมต์ที่ประเทศฝรั่งเศส นับเป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นมาด้วยความมุ่งหมายเอาเป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางใจในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาเก่าแก่ในประเทศอินเดีย

ในเวลาต่อมาพระพุทธศาสนาก็เกิดขึ้นในโลกโดยพระบรมศาสดา(เจ้าชายสิทธัตถะ) เป็นผู้ทรงค้นพบอมตะธรรมอันวิเศษ โดยมีผู้เลื่อมใส สักการะแล้วยึดเป็นสรณะ ดังนั้นพระพุทธองค์ทรงมีพระสาวกตามเสด็จ และร่วมประพฤติปฏิบัติด้วยมากมาย จนเป็นพระอสีติมหาสาวกขึ้น ซึ่งท่านมหาสาวกเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ทรงไว้ในความเป็นเอตทัลคะในด้านต่างๆกัน ได้แก่ พระสารีบุตรทรงความเป็นยอดเยี่ยมทางปัญญา พระโมคคัลลานะทรงความเป็นยอดเยี่ยมทางอิทธิฤทธิ์ (ในพระพุทธศาสนานั้นผู้ที่สำเร็จญาณสมาบัติได้ต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์ย่อมแสดงอิทธิฤทธิ์ได้หลายอย่างเป็นอเนกประการ อิทธิฤทธิ์เหล่านี้เรียกว่า อิทธิปาฏิหาริย์เป็นการกระทำที่สามัญชนไม่สามารถจะกระทำได้ ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกมากมาย) ซึ่งพระพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงไว้ด้วยคุณ 3 ประการคือ

  1.   พระเมตตาคุณ
  2.   พระปัญญาคุณ
  3.   พระบริสุทธิคุณ

ดังนั้นพระเถระผู้มีญาณสมาบัติก็มักจะใช้ฤทธิ์ของท่านช่วยมนุษย์ และสัตว์โลกซึ่งถือเอาหลักพระเมตตาคุณ เป็นการเจริญรอยตามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระบรมศาสนานั้นเอง

เครื่องรางของขลัง

เครื่องราง – เครื่องลาง

คำว่าเครื่องรางกับเครื่องลางคำใดจึงเป็นคำที่ถูกต้อง ซึ่งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุว่าเครื่องรางหมายถึงเครื่องป้องกันภัยที่ทำสำเร็จด้วย ราง หรือ ร่อง แต่สำหรับนักนิยมสะสมเครื่องรางระดับสากลนิยมที่จะเรียกว่าเครื่องลางมากกว่า โดยหมายถึงเครื่องที่ใช้เกี่ยวกับโชคลาง เครื่องคุ้มครอง ปกป้อง กันภัย เพราะแต่เดิมนั้นมนุษย์ทำของเช่นนี้ขึ้นมาเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่เรียกว่า ลางหรือสิ่งป้องกันภัย อันจะเกิดในอนาคต ให้แคล้วคลาด นั่นเอง.