เหรียญเสมาหลวงพ่อโสธร เนื้อทองคำ

หลวงพ่อโสธร

วัดโสธรวนารามวรวิหาร

ประวัติความเป็นมา หลวงพ่อพุทธโสธรนั้น ปรากฏชัดเจนในหนังสือของจังหวัดฉะเชิงเทราที่ได้พิมพ์ออกมาเผยแพร่ เมื่อคราวมีงานมนัสการ หลวงพ่อพุทธโสธร ปี พ.ศ. 2496 เป็นปีแรก องค์หลวงพ่อพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูป หล่อด้วยทองสำริด แสดงศิลปะลานนา-ลานช้าง ปางสมาธิขัดราบหลวมๆ พระเนตรทราย หน้าตักกว้างประมาณศอกเศษ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ผู้เขียน ทำไมจึงใช้คำว่า “ศิลปะลานนา-ลานช้าง” เพราะไม่มีคำอธิบาย นอกจากความหมายตามความเข้าใจ ตามชื่อพระพุทธรูปที่ว่า ศิลปะในองค์พระเป็นแบบไตอ้ายลาว “ลานช้าง” ผสมกับศิลปะสมัยเชียงแสนรึเปล่า หรือตีขลุมว่า เป็นศิลปะแนวใหม่ ก็ยังไม่มีความนัยบ่งบอกได้ อธิบายแต่เพียงว่า องค์หลวงพ่อพุทธโสธรนั้น ถูกพอกปูนเสริมองค์จริงไว้ภายใน ด้วยเหตุเพราะเกรงว่า อาจมีหัวขโมยลักลอบตัดเศียรเอาไปขาย , องค์ปัจจุบันที่ถูกพอกปูนหุ้มดังกล่าวนี้ เมื่อวัดขนาดดู ยังมีหน้าตักกว้าง 3 ศอก กับ 5 นิ้ว และระบุด้วยว่า เขียนตามคำบอกเล่าต่อๆกันมา ก็แสดงว่าเป็นเรื่องจริงตามตำนานที่เกิดขึ้นจากคำบอกเล่า ซึ่งอาจมีมาก่อน พ.ศ. 2496 ถ้ามองในแง่ดี องค์หลวงพ่อพุทธโสธร ที่เป็นเนื้อสำริดนั้น ช่างปูนคงจะพอกตามลักษณะเดิมๆทุกประการ ไม่เช่นนั้นแล้ว ย่อมผิดพลาดคลาดเคลื่อนร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม.

เหรียญเสมาใหญ่ หลวงพ่อโสธร

ตำนานหลวงพ่อโสธร

ตามคำอธิบาย กล่าวถึงตำนานพระพุทธรูป 3 พี่น้องได้แก่ หลวงพ่อพุทธโสธร หลวงพ่อวัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม และหลวงพ่อโต วัดบางพลี จ.สมุทรปราการ ล่องลอยน้ำมาทางเหนือของประเทศ(ไม่ได้ระบุว่า ที่มีความรู้ว่าพระพุทธรูป 3 พี่น้อง ลอยมาจากทางเหนือ) อย่าถามว่า ลอยมาได้อย่างไร เพราะตำนานกล่าวไว้ว่าล่องลอยมาได้ อาจด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ของหลวงพ่อพระพุทธรูปทั้งสามพี่น้อง ในที่สุดก็มาผุดขึ้นที่ แม่น้ำบางปะกง ณ ตำบล สัมปทวน มีชาวบ้านร้านถิ่นแถวนั้นบังเอิญพบเห็น จึงร่วมแรงร่วมใจกัน เอาเชือกพรวนมะลิลาลงไปผูกมัดองค์พระ แล้วฉุดลากขึ้นฝั่ง แต่ฉุดอย่างไรก็ฉุดไม่ขึ้น พยายามฉุดอีกจนเชือกขาดลงในที่สุด พระพุทธรูปทั้งสามพี่น้อง จึงจมหายไป.

ปาฏิหาริย์หรือเหตุบังเอิญ

อาจเป็นเหตุบังเอิญ ลักษณะตำนานพระพุทธรูปสามพี่น้อง ลอยน้ำมา ดูไปคล้ายกับตำนานจามเทวี ที่เขียนโดย ชาวเขลางค์นคร ตรงที่เมื่อพระนางจามเทวี เดินทางไปถึง ณ ที่ตรงไหน หรือจะทำอะไรที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษ ก็จะชื่อสุสานที่ดังกล่าวตามลักษณะเหตุที่เกิดขึ้น ความประหลาดอยู่ตรงจุดนี้ อย่างเช่น บริเวณที่พระพุทธรูปทั้งสามพี่น้องลอยทวนน้ำ ถูกเรียกชื่อว่า ตำบลสามพระทวน ปัจจุบันเพี้ยนไปเป็น “ตำบลสัมปทวน” อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา และเมื่อพระพุทธรูปสามพี่น้อง ยังคงลอยอยู่ในแม่น้ำบางปะกงผ่านวัดโสธร ไปถึงคุ้งน้ำด้านทิศใต้ของวัดโสธร ก็ได้แสดงอภินิหารผุดขึ้นเหนือน้ำ และลอยเข้าไปในคลองเล็กๆ ชาวบ้านแถวนั้นที่ได้พบเห็น ก็ได้ช่วยกันฉุดขึ้นฝั่ง แต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุดังกล่าว คลองที่พระพุทธรูปทั้งสามพี่น้องผุดโผล่ ปัจจุบันได้ชื่อว่า “คลองบางพระ” จนกระทั่งทุกวันนี้ เล่ากันอีกต่อมาว่า พระพุทธรูปสามพี่น้อง ได้ลอยทวนน้ำขึ้นไปทางเหนือ และลอยวนอยู่แถวแหลมหัวเลี้ยวหน้า กองพันทะหารช่าง ช.1 พัน 2 ร.อ.ฉ.ช. จากนั้นก็ลอยเข้าไปในฝั่งตรงกันข้าม กับกองพันทะหารช่าง สถานที่ลอยวนอยู่นั้น เรียกว่า “แหลมหัววน” ส่วนคลองนั้นก็ไดชื่อเรียกเช่นกันว่า “คลองสามพี่น้อง” ความคล้ายคลึงเกี่ยวกับการตั้งชื่อสถานที่ หรือตำบลที่พระพุทธรูปสามพี่น้องลอยผ่าน นักคิดนักเขียน หรือนักเล่าตำนานที่ว่า คงจะเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับตำนานต่างๆพอตัวทีเดียว จึงสามารถเล่าเรื่องมีเชิงปรัมปราคติให้คนอื่นเรียกชื่อเป็นตุเป็นตะ แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า ก็คือตำนานควรเชื่อได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด คือที่เชื่อไม่ได้ก็มีมาก ไม่มีใครตอบได้ว่า พระพุทธรูปเนื้อสำริดสามารถล่องลอยจากแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่ ไปถึงแม่น้ำบางปะกงได้ยังไง เว้นไว้เสียแต่จะมีปาฏิหาริย์  ในกรณีนี้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้จริงๆ หรือว่าเป็นแค่เรื่องที่มีเจตนา จะให้ชาวบ้านญาติโยมเกิดความศรัทธาในพระพุทธรูปเท่านั้น ว่าเป็นพี่น้องกันมาสามองค์ เช่นเดียวกับตำนานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาทุกเรื่องในประเทศนี้.

เหรียญหลวงพ่อโสธร เนื้อเงิน

พระพุทธรูปสามพี่น้อง ลอยผ่านตำแหน่งต่างๆ ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้ตั้งชื่อ หรือมีคนตั้งอย่างมีเจตนาให้เป็นชื่อเกี่ยวกับการลอยผ่านของพระพุทธรูปเรียบร้อยแล้ว พระพุทธรูปองค์ใหญ่ หรือองค์พี่ ก็ได้ลอยตามน้ำต่อไปจนถึงลำน้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ประชาชนรุ่นตำนานได้เห็นพระพุทธรูปผุดขึ้นเหนือน้ำ จึงได้อารธนาขึ้นประดิษฐานอยู่ ณ วัดบ้านแหลม องค์นี้แหละมีปัญหาเถียงกันไม่จบ ชาวบ้านญาติโยมเรียกชื่อพระพุทธรูปองค์พี่นี้ ตามความคิดของคนรุ่นนั้นว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลม ตำนานว่า วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ หลวงพ่อวัดบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปยืน  องค์กลางคือ พระพุทธโสธร หรือที่นิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า หลวงพ่อโสธร  และอีกองค์เล็กคือ หลวงพ่อวัดไร่ขิง แตกต่างออกไปจากตำนานในหนังสือของจังหวัดฉะเชิงเทรา เพราะปี พ.ศ. 2496 ว่า องค์สุดท้องหรือองค์เล็ก ก็คือ หลวงพ่อโต วัดบางพลี จ.สมุทรปราการ.

พระพุทธโสธร

ในทัศนะของผู้เขียน คงไม่ต้องอธิบายต่อว่า ทำไมประชาชนจำนวนมหึมา จึงนิยมวัตถุมงมงคลทุกประเภท ของวัดโสธร และทำไมผู้สร้างวัตถุมงคลเหล่านั้นของวัดนี้ จึงนิยมและชื่นชมที่จะสร้างจำลองแบบ พระพุทธโสธร โดยเฉพาะเหรียญแบบต่างๆ หลายรุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นจำลองแบบพระพุทธโสธร เป็นเอกลักษณ์แทบทั้งสิ้น วัตถุมงคลรุ่นแรกเริ่มสร้าง พ.ศ. 2460 และมีการจัดสร้างมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ยังมีการจัดสร้างออกมาให้ประชาชนที่เลื่อมใส ศรัทธา นิยมชมชอบ ในองค์หลวงพ่อโสธร ให้บูชาสะสม…

เหรียญเสมาหลวงพ่อโสธร