การสร้างพระปิดตาของ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์
การสร้างพระปิดตาของ หลวงพ่อแก้วนั้น โดยปกติแล้ว หลวงพ่อแก้ว ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยละเอียดรอบคอบ ท่านเป็นผู้เห็นการณ์ไกล กล่าวคือ ในขณะที่ท่านสอนบาลีไวยากรณ์อยู่นั้น ท่านก็ได้เก็บเอาผงที่ลบการเรียนภาษาบาลีซึ่งเขียนเป็นอักษรขอม ที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ แล้วท่านก็จะนำผงอักขระที่ได้จากการลบ มาผสมกับผงพระพุทธคุณ หรือผงมหาราช เป็นต้น
เมื่อเอาผงดินสอ และผงพุทธคุณรวมเข้ากันแล้ว ท่านก็เอาเกสรดอกไม้ต่างๆ ตลอดจนใบไม้ เปลือกไม้ และเนื้อไม้ มาบดให้ละเอียดเป็นผง แล้วจึงนำมาผสมกับผงอักขระ(ผงลบ) เอาน้ำข้าวเหนียวมาผสมทำให้เหนียว จึงเอากดลงในแม่พิมพ์ที่ทำจากหินมีดโกน ก็สำเร็จเป็นองค์พระ
กล่าวกันว่าพระปิดตาที่ หลวงพ่อแก้ว สร้างในยุคแรกๆนั้น ท่านสร้างด้วยผงพุทธคุณ สีออกขาวก็มี สีออกเหลืองอ่อนบ้างก็มี และส่วนผสมที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งคือ “ไม้ไก่กุก” ซึ่งถือเป็นของหายากมาก ทางด้านพุทธคุณนั้นนับว่าเป็นมหาเสน่ห์ มหานิยมสูง ยิ่งถ้าได้พระอาจารย์ที่มีอาคมแก่กล้าปลุกเสกแล้ว จะเป็นของเข้มขลังดีที่ประเสริฐยิ่งนัก
ระหว่างการสร้างพระปิดตาของ หลวงพ่อแก้ว นั้น จะมีพระภิกษุสามเณร และชาวบ้านทั้งชายและหญิง มาร่วมมือกันตลอดเวลาในการสร้าง ตอนหลังเกิดชอบพอ รักไคร่กัน เป็นเพราะเสน่ห์มหานิยมที่เกิดจากผงพุทธคุณ ที่สร้างพระติดมือ ติดขันน้ำ และปลิวตกลงไปในโอ่งน้ำ เมื่อต่างคนต่างดื่มกิน จึงเกิดความรักไคร่กันขึ้น
เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น หลวงพ่อแก้ว จึงได้เปลี่ยนวิธีการผสมเนื้อพระเสียใหม่ โดยการนำเอาผงพุทธคุณ ผสมคลุกเคล้ากับรักให้เหนียวแน่น ไม่หลุดง่าย เพื่อกันไม่ให้ผงปลิว หรือติดมือ ติดขันน้ำ จึงเกิดเป็น “พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก” ในยุคต่อมา
พระปิดตา หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์
พระปิดตาของ หลวงพ่อแก้วนั้น มิใช่ว่าจะมีพุทธคุณดีทางด้านเมตตามหานิยมเท่านั้น แม้แต่ทางคงกระพันชาตรี ก็มีอยู่มิใช่น้อยเช่นกัน วงการพระเครื่องเมืองไทย จึงได้จัดพระปิดตา ของหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ให้อยู่ในชุดพระเบญจภาคี เป็นอันดับ 1 และได้กำหนดแบบพิมพ์มาตรฐานสากล ได้รับความนิยมมากเช่น: พระปิดตา พิมพ์ใหญ่ , พระปิดตา พิมพ์กลาง , พระปิดตา พิมพ์เล็ก และ พระปิดตา พิมพ์ปั้นลอยองค์
ส่วนด้านหลังพระทั้ง 3 พิมพ์แรกนี้ เท่าที่พบเห็นมี 3 แบบ 3 พิมพ์ คือ
1. เป็นแบบหลังรูปพระปิดตา เรียกว่า “หลังแบบ”
2. แบบหลังยันต์
3. แบบหลังเรียบ หรือ “แบบหลังเบี้ย”
ส่วนเนื้อพระเป็นเนื้อผงพุทธคุณล้วน มีสีขาว สร้างยุคต้นซึ่งหายากมาก ต่อมาสร้างเป็นเนื้อคลุกรัก มีสีค่อนข้างดำ , นอกจากนี้หลวงพ่อแก้ว ท่านได้สร้างพระปิดตาเนื้อตะกั่วผสมปรอท แจกแก่ชาวบ้านที่ไปช่วยขนไม้(ซุง) ต้นใหญ่ๆนำมาสร้างกุฏิ เพื่อเอาไว้ป้องกันตัว ป้องกันคุณไสย และภูตผีปีศาจ เพราะเชื่อกันว่าผีกลัวปรอทมาก พระปิดตาเนื้อตะกั่วผสมปรอทของหลวงพ่อแก้วที่ว่านี้ก็คือ “พระปิดตาแลกซุง” สำหรับแจกแก่ชาวบ้านที่ไปช่วยกันลากไม้ซุงมาให้วัดนั้นเอง.
พระปิดตา พิมพ์ปั้น
และมีอีกพิมพ์ที่ถือเป็นพระปิดตาแลกซุง ก็คือ พระปิดตา พิมพ์ปั้นลอยองค์ แต่จะบอกว่าเป็นวัดเครือวัลย์วัดเดียวไม่ได้ เพราะพิมพ์ปั้นนี้มีออกทั้งจากวัดเครือวัลย์ และที่ออกจากวัดปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดชลบุรี , พิมพ์ปั้นลอยองค์ ทุกองค์จะมีลักษณะเฉพาะตัว ไม่เหมือนกัน เพราะจะปั้นทีละองค์ แต่จะมีลักษณะคล้ายๆกัน.
พระปิดตาเนื้อผงแท้ๆของ หลวงพ่อแก้ว นั้น เนื้อต้องละเอียด เพราะเมื่อท่านตำส่วนผสมเสร็จแล้วก็จะนำมากรอง จากนั้นใช้น้ำรักเป็นตัวประสาน บ้างก็ทารักแดง เรียกว่า “ชาดจอแส” เป็นรักมาจากเมืองจีน ปัจจุบันไม่มีแล้ว และใช้เม็ดรัก ซึ่งได้จากต้นรักที่เป็นมงคลนาม มาตำลงไป บางองค์จะเห็นเม็ดรักโผล่ขึ้นมา อาจเป็นสีดำหรือสีแดง แต่จำนวนไม่มาก ถ้ามีรักหรือทองไปปิดบัง ทองและรักต้องเก่ากว่า ซึ่งดูยาก หากคนที่มีความรู้เรื่องรักและทองจะได้เปรียบ เพราะพระปิดตา ของ หลวงพ่อแก้ว หายากกว่าพระสมเด็จ วัดระฆัง เพราะมีการสร้างจำนวนน้อยกว่า แต่สร้างในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นคือเมื่อประมาณ 150 – 180 ปีมาแล้ว.