พระซุ้มชินราช ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่ วัดท่าเรือ จังหวัด นครศรีธรรมราช

พระกรุเมืองใต้ พระซุ้มชินราช ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่

พระซุ้มชินราช ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่ เป็นหนึ่งในพระชุดไตรภาคี พระเครื่องยอดนิยม อันดับหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช สมัยเมื่อ 20-30 ปีมาแล้ว ที่กล่าวขวัญกันในวงการนักเลงพระยุคนั้นว่า “ท่าเรือ นางตรา นาสนธิ์”คือ พระพิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่ กรุวัดท่าเรือ , พระพิมพ์นาคปรกใหญ่ กรุวัดนางตรา และ พระพิมพ์ใบพุทรา หรือ พิมพ์ยอดขุนพล กรุวัดนาสนธิ์ ณ ปัจจุบันยังคงเป็นที่นิยมสูง และ เสาะแสวงหากันอยู่ แต่ค่อนข้างหาดูได้ยากกว่าแต่ก่อนมาก

พระซุ้มชินราชปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่ เนื้อดิน กรุวัดท่าเรือ นครศรีธรรมราช

ประวัติ วัดท่าเรือ

วัดท่าเรือ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนาฏศิลป์ เมืองนครศรีธรรมราช แต่จากหลักฐานในหนังสือใบลานผูก เขียนแบบสมุดข่อย ซึ่งสันนิษฐานว่า เขียนขึ้นโดยบัณฑิต ในสมัยสมเด็จพระนาราณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยธยา ระบุว่าวัดท่าเรือ หรือ วัดท่าโพธิ์ นี้ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราช โดยพระองค์ทรงสถาปนาวัดท่าเรือร่วมกับพระภิกษุชาวลังกา เพื่อประดิษฐานวิหารพระเจดีย์ รวมทั้งสร้างพระพิมพ์ขนาดต่างๆขึ้น  เพื่อฉลองสมโภชพระมหาเจดีย์ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ.1773

ปราฏิหริย์พระกรุ วัดท่าเรือ

ในสมัยสงคราม ใช้เป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันอันตรายแก่ผู้ที่อาราธนาติดตัว โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่ป้องกันชาติบ้านเมือง  พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราช ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล ที่จะให้ชนรุ่นหลังผู้ทำหน้าที่รักษาบ้านเมือง ได้นำติดตัวออกไปป้องกันภัย เมื่อยามจำเป็น จึงทรงผูกลายแทงไว้คู่กับวัดท่าเรือ

ต่อมาทวดศักดิ์สิทธิ์ วัดศาลามีชัย ได้แก้ลายแทงขุมทรัพย์วัดท่าเรือให้เจ้าพระยานคร(น้อย) และ ให้ทหารขุดเอาพระกรุท่าเรือไปป้องกันตัวในสงครามปราบกบฏเมืองไทรบุรี-กลันตันเป็นครั้งแรก ในปลายสมัยรัชกาลที่ 2 พระกรุวัดท่าเรือ ได้แสดงปาฏิหาริย์ สามารถประกาศชัยชนะสยบศัตรูได้อย่างราบคาบ เจ้าพระยานคร(น้อย)ได้รับความดีความชอบ เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช(น้อย) องค์สุดท้ายของประวัติศาตร์เมืองนครศรีธรรมราช

หลังจากนั้นได้อาราธนาพระกรุท่าเรือติดตัวในการทำสงคราม อีกหลายต่อหลายครั้ง อาทิ สงครามมหาเอเชียบูรพา ปี พ.ศ.2484 เหล่าศัตรูเกรงขามในความคงกระพันชาตรีของทหารเมืองนครศรีฯ เป็นอย่างมาก แต่ในสมัยก่อนนั้น เมื่อเสร็จสิ้นสงคราม แต่ละครั้งเหล่าทหารก็จะนำพระกลับไปคืนเก็บไว้ที่วัดดังเดิม โดยใส่ไหใส่ตุ่มฝังไว้บ้าง โยนไว้แถวเจดีย์ ใต้ต้นไม้ หรือ บริเวณลานวัดบ้าง ด้วยยังเชื่อถือกันเคร่งครัดว่า พระต้องอยู่วัดเท่านั้น

การขุดพบพระกรุวัดท่าเรือ

เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไป วัดท่าเรือได้แปรสภาพเป็นวัดที่รกร้าง มาเป็นเวลายาวนาน ศาสนสถาน และ ศาสนวัตถุต่างๆ ปรักหักพังเสื่อมโทรม องค์พระที่ทับถมอยู่ตามบริเวณต่างๆภายในวัดท่าเรือ จนเมื่อกรมศิลปากรได้ทำการปรับที่ดิน เพื่อสร้างวิทยาลัยนาฏศิลป์ ประมาณปี พ.ศ.2519 จึงได้ขุดพบซากพระใต้อุโบสถ และ วัตถุโบราณอื่นๆอีก ตามที่ระบุในใบลานทุกอย่าง รวมทั้งพระกรุวัดท่าเรือ เมื่อพุทธคุณเป็นที่ปรากฏก็ยิ่งเป็นที่สนใจแสวงหากันเพิ่มยิ่งขึ้น สนนราคาก็สูงขึ้นตาม

พระกรุวัดท่าเรือที่ค้นพบส่วนใหญ่ เป็นพระเนื้อดิน มีทั้งเนื้อหยาบ และ ละเอียด มีแร่กรวดทรายผสมอยู่ค่อนข้างมาก ที่เป็นพระเนื้อชินมีเป็นส่วนน้อย ลักษระพุทธศิลปะเป็นแบบอยุธยาตอนต้น มีด้วยกันหลายพิมพ์ทรง อาทิ พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่ , พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์เล็ก , พิมพ์วงเขน , พิมพ์ตรีกาย และ พระปิดตา เป็นต้น

พระซุ้มชินราชปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่ เนื้อดิน กรุวัดท่าเรือ นครศรีธรรมราช

แต่ที่นับว่าเป็น “พิมพ์นิยม”ได้รับการยอมรับ และ จัดให้เป็นพระอันดับหนึ่งในพระชุดไตรภาคี คือ “พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่” หรือ “พระซุ้มชินราช พิมพ์ใหญ่” ลักษณะองค์พระตัดกรอบแบบสี่เหลี่ยม พุทธลักษณะงดงามสง่า องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิบนฐานบัวสองชั้น อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วแบบซุ้มชินราช มีปรกโพธิ์ปกคลุมเหนือซุ้ม บางครั้งจึงเรียกว่า พระซุ้มชินราช

พระซุ้มชินราช ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่ กรุวัดท่าเรือ จังหวัด นครศรีธรรมราช
พระซุ้มชินราช ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่ วัดท่าเรือ จังหวัด นครศรีธรรมราช
พระซุ้มชินราช ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่ วัดท่าเรือ จังหวัด นครศรีธรรมราช
พระซุ้มชินราช ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่ วัดท่าเรือ จังหวัด นครศรีธรรมราช