พระร่วงหลังรางปืนแตกกรุ จ.สุโขทัย
พระร่วงหลังรางปืน แตกกรุเมื่อ พ.ศ. 2493 จากบริเวณหน้าพระปรางค์องค์ใหญ่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ(เชลียง) จ.สุโขทัย เชื่อว่ายุคขอมเรืองอำนาจที่เคยปกครองดินแดนแถบนี้ ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอม และได้สร้างพระพิมพ์นี้ไว้ให้สืบทอดในดินแดนที่ครอบครองคือ “พระร่วง” พิมพ์นี้นั่นเอง
พระที่พบมีจำนวนไม่เกิน 200 องค์ และกว่าครึ่งหนึ่งเป็นพระที่ชำรุดแตกหัก ที่สมบูรณ์สวยงามจริงๆมีไมมากนัก ซึ่งจะอยู่ในครอบครองของผู้มีชื่อเสียง ผู้มีบารมีและฐานะดี โดยต่างคนก็หวงแหนพระร่วงพิมพ์นี้กันมาก ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นสิริมงคลแห่งชีวิต ในการบูชาคุ้มครองเสริมบารมี ถึงกับบางท่านไม่ยอมเปิดเผยว่าเป็นผู้มีพระพิมพ์นี้ แต่ก็มีบางท่านยอมเปิดเผย เพื่อเป็นวิทยาทานสู่สาธารณชน อันเป็นการอนุรักษ์พระกรุเก่าสืบทอดให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ต่อไป.
ลักษณะพระร่วงหลังรางปืน
พระร่วงหลังรางปืน พุทธลักษณะเป็นพระยืนปางประทานอภัย ( นักสะสมบางท่านมักจะเรียกว่าปางประทานพร ) ศิลปะเขมรยุคบายน อยู่ในลวดลายของกรอบซุ้ม ลักษณะของยอดซุ้มเป็นลายกนก แบบซุ้มกระจังเรือนแก้ว ด้านหลังขององค์พระพิมพ์นี้มีลักษณะพิเศษคือ มีรางร่องกดลึกลงไปเป็นรางร่องยาวตามองค์พระ นักนิยมพระเครื่องในสมัยแรกที่พระแตกกรุออกมาใหม่ๆ จึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่า “พระร่วงหลังกาบหมาก” ต่อมาได้มีผู้นำพระพิมพ์นี้ไปใช้ติดตัว ทำให้เกิดความแคล้วคลาดจากภยันตรายในเรื่องปืน มีประสบการณ์ ยิงไม่ออก ยิงไม่เข้า ยิงไม่ถูก ทำให้ผู้คนในสมัยต่อมาเรียกพระพิมพ์นี้ว่า “พระร่วงหลังรางปืน”
แต่ก็มีผู้สันทัดกลุ่มหนึ่งในยุคคุณปู่กล่าวขานกันมาว่า เพราะด้านหลังองค์พระที่เป็นร่อง และ มีลายแบบกาบหมากนั้น มีลักษณะคล้ายร่องปืนแก๊บ จึงเรียกกันว่า “หลังรางปืน”
พระร่วงหลังรางปืน ร่องลึกและร่องตื้น
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับ ร่องรางที่กดลึกลงไป จนทำให้ด้านหลังเกิดเป็นรางร่องยาวนั้น ในกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ นอกจากจะพบพระร่วงหลังรางปืน พิมพ์ร่องลึกแล้ว ก็ยังพบ “พระร่วงหลังรางปืนร่องตื้น” อีกจำนวนหนึ่ง ด้านหน้าองค์พระเหมือนกันทุกประการ ส่วนร่องด้านหลังจะตื้นกว่า และมีลายกาบหมากเช่นเดียวกัน สาเหตุอาจเป็นเพราะเนื้อตะกั่วแข็งตัวก่อนในการเทพระ เลยเป็นสาเหตุให้มีร่องตื้น บางองค์จะสังเกตเห็นเป็นร่องบางและตื้นมากๆ.
การกดพิมพ์พระร่วงหลังรางปืน
ด้านหลังของพระร่วงหลังรางปืน มักมีร่องรอยของการกดพิมพ์พระลักษณะกดด้วยไม้ เพื่อกดพิมพ์พระให้มีความคมชัดสวยงาม จึงมักมีรอยนูนคล้ายลายไม้เป็นทิวแถว บางเส้นยาว บางเส้นสั้น บางเส้นมีลักษณะคล้ายเสี้ยนที่เรียกกันว่า “ลายกาบหมาก” อีกทั้งยังมีร่องคล้ายรางปืนลึกลงไปเป็นทางยาวเกือบเท่าความยาวของด้านหลังองค์พระ.
พระร่วงรางปืน จักรพรรดิแห่งพระเนื้อชิน
พระร่วงหลังรางปืน จัดอยู่ในชุดพระยอดขุนพล หนึ่งในห้าอันดับยอดเยี่ยมของพระประเภทเนื้อชิน ซึ่งหาได้ยากยิ่งในกระบวนพระยอดขุนพลทั้งหมด สร้างด้วยวัสดุที่เป็นเนื้อตะกั่วส่วนใหญ่ เนื้อมีน้อยมาก และ ไม่ปรากฏว่ามี “เนื้อดิน” เลย.
พระร่วงรางปืนเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง
ยิ่งถ้าเป็นพระกรุเก่าที่แท้จริงแล้ว วรรณะของสนิมที่ฝังตัวติดอยู่ในเนื้อตะกั่วนั้น จะมีสีที่แตกต่างกัน มีทั้งสีแดงอ่อน สีแดงเข้ม สีแดงอมม่วง และสีแดงส้ม ขึ้นอยู่กับแร่โลหะต่างชนิดที่ผสม ผิวขององค์พระบางองค์แดงจัดจนออกสีลูกหว้าสดก็มี เนื่องจากพระในกรุมีอายุกาลเวลาผ่านมานานมาก เนื้อพระที่แท้จริงของตะกั่วได้เปลี่ยนสภาพปรากฏเป็นเนื้อตะกั่วผสมสนิมสีแดง ตั้งแต่ผิวชั้นบนสุด ฝังลึกถึงแกนกลางของเนื้อชั้นในสุดเรียกว่า ยิ่งลึกสนิมยิ่งแดงก็ว่าได้ มิใช่เป็นตะกั่วสีดำอมสีแดง เพียงแค่ผิวภายนอกเท่านั้น.
ลักษณะพิเศษของ พระร่วงหลังรางปืน เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง จะมีไขมากกว่ากรุพระอื่นๆ และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ เส้นแตกไยแมงมุมแบบธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเองตามกาลเวลา จากสภาวะอากาศภายในกรุ ขณะที่ยังฝังอยู่ในดิน ถือเป็นเอกลักษณ์ของ พระร่วงหลังรางปืน จักรพรรดิพระเนื้อชินแห่งกรุสุโขทัย ที่หาชมพระแท้องค์จริงได้ยากยิ่ง.
ขนาดองค์พระสูงประมาณ 7 ถึง 8 ซม. กว้างประมาณ 2.5 ซม. มีทั้งหมด 5 พิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่ฐานสูง พิมพ์ใหญ่ฐานเต้ย พิมพ์แก้มปะ พิมพ์หน้าหนุ่ม และพิมพ์เล็ก.
พระร่วงรางปืน ( พระร่วงหลังรางปืน ) เป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะจะหาชมองค์จริงได้ยากยิ่ง เพราะฉะนั้น พระทำปลอม และเลียนแบบจึงมีมากมาย , สำหรับราหาเช่าหาอยู่ที่หลักแสนขึ้นไปจนหลักล้าน หากท่านใดมีองค์แท้อยู่ในมือ ถือว่าท่านเป็นผู้โชคดี ที่มีพระ 1 ใน 200 องค์ที่เป็นพระแท้องค์จริงอยู่ในครอบครอง.
พุทธคุณพระร่วงรางปืน
ด้านพุทธคุณถือว่าโดเด่นด้านมหาอำนาจ มหาโภคทรัพย์ เมตตามหานิยม คงกระพัน แคล้วคลาด , นักสะสมพระเครื่องต่างร่ำลือกันว่า “พระร่วงเจ้า” พิมพ์ยืนพิมพ์นี้ ท่านโรจน์ฤทธิ์พิชิตภัยได้ทุกทิศ จนมีคำกล่าวขานมานานว่า “ถ้าแขวนพระร่วงรางปืน จะไม่มีการตายโหง อย่างเด็ดขาด”