เครื่องลางของขลัง
หากจะพูดถึงเครื่องรางของขลังแล้ว สำหรับคนที่ชื่นชอบวัตถุมงคลอยู่แล้ว ก็คงไม่สงสัยมากนักเพราะรู้จักดีในแง่ของความเชื่อและความศรัทธา แต่จะมีใครบ้างที่รู้ประวัติความเป็นมาและความหมายจริงๆของ วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
วัตถุมงคล เครื่องลางของขลังเป็นสิ่งที่ลึกลับ ยากต่อการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่สามารถรับรู้ได้ด้วยคุณของวัตถุเครื่องรางนั้นๆ โดยส่วนตัวคิดว่า คนที่มีเครื่องรางของขลังไว้ในครอบครอง อาจจะมีประสบการณ์ให้เชื่อ ซึ่งก็คงยากที่จะอธิบายให้ใครเข้าใจได้ เป็นความเชื่อ ความศรัทธาของคนบางกลุ่มหรือบางคน เชื่อว่าเครื่องรางของขลังที่ตนครอบครอง นั้น ให้คุณประโยชน์ต่อตนเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นเชื่อว่า แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตราย ช่วยขับไล่ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย หรือดลบันดาลให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งกับผู้ที่ครอบครอง ซึ่งวัตถุมงคลนั้นเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเหนือธรรมชาติ และมีผลทางด้านจิตใจต่อผู้ที่ครอบครอง
ประวัติเครื่องรางของขลัง
สำหรับ เครื่องราง เป็นสิ่งที่มีมาตั้งสมัยโบราณกาลนับพันปีมาแล้ว และประวัติเครื่องลางของขลังไม่ได้มีเฉพาะแต่ในเมืองไทยเท่านั้น ชนชาติอื่นๆ ก็มีเครื่องรางใช้กันมานานแล้ว โดยเชื่อกันว่าของสิ่งนี้จะสามารถปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายต่างๆให้ได้ รวมทั้งในเรื่องของโชคลาภ ความโชคดีทั้งหลายทั้งปวง
วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง จึง นับเป็นเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่มีอยู่คู่กับมนุษย์ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ จนถึงทุกวันนี้ วัตถุมงคล–เครื่องรางของขลัง ก็เป็นที่นิยมในยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากแล้วก็ตาม สำหรับความเชื่อในเรื่องเครื่องลาง ของคนไทย ก็มีมาแต่ครั้งโบราณเช่นกัน ดังจะเห็นได้ในวรรณกรรมที่มีการกล่าวถึงอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะเครื่องราง ที่นักรบใช้ติดตัวในยามออกศึกสงคราม เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ห้าวหาญ ไม่เกรงกลัวข้าศึก โดยเชื่อกันว่า เครื่องราง ที่สร้างขึ้น ด้วยวิชาไสยศาสตร์ชั้นสูง โดยพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมอันเข้มขลัง จะสามารถช่วยคุ้มครองป้องกันภัยรอบตัวได้เป็นอย่างดี
เครื่องรางของขลัง จึงนับเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของพระเกจิอาจารย์คนไทย หรือฆราวาสผู้มีวิชาอาคมขลัง สมัยเก่าก่อน ที่มีการสืบสานวิทยายุทธ์มาจนถึงทุกวันนี้ และส่วนใหญ่จะเป็นฝีมือการจัดสร้างขึ้นมาทีละชิ้นไม่ซ้ำรูปแบบกัน เพราะไม่ได้ใช้แม่พิมพ์ตายตัวแต่อย่างใด
เครื่องรางของขลัง อันโด่งดังที่คนไทยรู้จักกันมาช้านานแล้ว ก็คือ ตะกรุด ที่สร้างจากวัสดุต่างๆ เบี้ยแก้ ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด เสื้อ ยันต์ ลูกอม เขี้ยวเสือกลวง ไม้ครู มีดหมอ รักยม กุมารทอง ฤาษี ชูชก หุ่นพยนต์ ปลัดขิก น้ำเต้า ‘กะลาตาเดียว ราหูอมจันทร์ หมากทุย
เชือกคาดเอว เชือกคาดแขน แหวนพิรอด นางกวัก พ่อเฒ่า พ่อแก่ (ฤๅษี)
ท้าวเวสสุวรรณ ฯลฯ รวมทั้งเครื่องรางที่แกะเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น หนุมาน ลิง องคต เสือ สิงห์ ราชสีห์ คชสีห์ ช้าง แพะ จิ้งจก ตุ๊กแก่ เต่า ปลาตะเพียน วัวธนู ควายธนู จระเข้ งู ฯลฯ
เครื่องรางของขลัง ของโบราณาจารย์ไทย ไม่ว่าจะเป็นพระเกจิอาจารย์ หรือเกจิอาจารย์ฆราวาส ผู้มีวิชาอาคมขลัง มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญชำนาญการในเรื่องไสยศาสตร์เป็นอย่างดี ได้จัดสร้างขึ้นนี้มีความหลากหลายเหลือเกิน แต่ละชิ้นงานล้วนเป็นการสร้างขึ้นด้วยฝีมือ ชั้นบรมครูอันล้ำเลิศ ทีละชิ้น โดยไม่ซ้ำกัน
แม้วิทยาการทางเทคโนโลยีในสมัยนี้จะมีความก้าวหน้าไปมาก แล้วความเชื่อในเรื่องของ พระเครื่อง วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง อันเก่าแก่อาจจะลดน้อยลงไปในความรู้สึกเชื่อถือและศรัทธาของคนรุ่นใหม่ก็ตามแต่เครื่องราง ก็ยังเป็นที่ศรัทธาสนใจของผู้คนอีกไม่น้อย โดยเฉพาะนักนิยมสะสมพระเครื่องทั้งหลาย โดยเห็นว่า เครื่องราง เป็นส่วนหนึ่งของงานสะสมที่น่าสนใจมาก แม้จะไม่เชื่อในเรื่องของอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ความเข้มขลังก็ตาม แต่เครื่องรางก็ยังนับเป็นโบราณวัตถุอย่างหนึ่ง ที่เต็มศาสตร์และศิลป์อันทรงคุณค่ายิ่ง
การสร้างวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังในสมัยโบราณจะเป็นการสร้างโดย พระเกจิอาจารย์ ฤาษี หรือผู้ที่ทรงฌานสมาบัติ มีพลังจิตแก่กล้า มีฤทธิ์ และเป็นผู้ที่ทรงภูมิปัญญา มีความรู้ความเชี่ยวชาญมากทางด้านสรรพวิชาต่างๆ ทำการรวบรวมเอาสรรพวิชา ต่างๆ มาสรรค์สร้างเป็น เครื่องรางของขลัง ทำการปลุกเสกด้วยอำนาจจิต ให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เข้มขลัง มีฤทธิ์บันดาลให้เกิดผลต่างๆ อาทิเช่น
- คงกระพัน คือ หนังเหนียว ฟัน แทง ยิง ไม่เข้า
- ชาตรี คือ กระทบเบา เช่น โดนต่อย โดนทุบ แต่ไม่เจ็บ
- มหาอุตม์ คือ ห้ามอาวุธ เช่นปืนยิ่งไม่ออก
- แคล้วคลาด คือ ปลอดภัยจากอันตราย ไม่ถูกตัว ไม่โดนตัว
- มหาอำนาจ คือ ผู้คนเกรงกลัว เกรงใจ ใครเห็นก็เคารพ
- เมตตา คือ ใครเห็นก็รักไคร่ และเอ็นดู
- มหานิยม คือ คนนิยมชมชอบ
- โชคลาภ คือ ให้คุณทางด้านลาภผล การค้าขาย หรือเงินทอง เป็นต้น
การปลุกเสกเครื่องรางของขลัง
การปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เป็นการที่ทำให้วัตถุมงคล เครื่องรางของขลังนั้นเกิดความศักดิสิทธิ์ เกิดฤทธิ์อำนาจ ให้เป็นไปตามที่ต้องการ การปลุกเสกนั้นมักทำโดยพระเกจิอาจารย์ หรือ ผู้ที่มีพลังจิตแกร่งกล้ามากพอ ที่จะทำให้เกิดผลดังว่านั้นได้ การปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ถ้าเป็นพระเครื่อง เรียกว่าการทำพิธีพุทธาภิเษก ซึ่งมักจะทำโดยพระเถราจารย์ หรือพระเกจิอาจารย์
เครื่องรางของขลังของไทย และประเทศใกล้เคียง มีประวัติความเป็นมา ตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ มีบันทึกไว้อย่างละเอียดเป็นตำรา ไม่ว่าจะเป็นวิธีการขั้นตอนการสร้าง วัสดุที่จะนำมาใช้ในการสร้าง วิธีการสร้าง ตลอดจนวิธีการปลุกเสก ซึ่งมีบันทึกไว้โดยละเอียดซึ่งตำรานี้มักจะเป็นสมบัติอยู่กับผู้ที่ทรงคุณ ต่างหวงแหนรักษาไว้เป็นความลับ จนกว่าจะมีผู้มีบุญวาสนาบารมีพอที่จะมอบให้และถ่ายทอดต่อไป
• ดังนั้น เครื่องรางของขลัง หากสร้างโดยผู้ที่มีความรู้ มีภูมิปัญญาอย่างแท้จริง หาใช่สิ่งที่งมงาย ไร้สาระอย่างที่คนไม่รู้ แล้วพูดทั้งหลายเข้าใจไม่ แต่หากเป็นสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล ที่อนุชนรุ่นหลังควรอนุรักษ์และดำรงรักษาไว้ต่างหาก
เครื่องรางของขลังสะท้านแผ่นดิน
“หมากดี ที่วัดหนัง-เบี้ยขลัง วัดนายโรง
ไม้ครู คู่วัดอินทร์ – มีดบิน วัดหนองโพ
พิสมร วัดพวงมาลัย ครั่งเหลือร้าย วัดโตนดหลวง-ราหู คู่วัดศรีษะ แหวนอักขระ วัดหนองบัว
ลูกแร่ ที่วัดบางไผ่ ฤทธิ์เหลือร้ายหาใดปาน
9 สิ่งล้วนเป็นมงคล ทั่วทุกคนควรค้นหาติดกายยามยาตรา ภัยมิกล้ามาแผ้วพานฯ“
นี่คือบทโคลงกลอนที่นักสะสมเครื่องรางของขลังในยุคเก่าก่อนได้กล่าวถึง 9 เครื่องรางของขลังทรงคุณค่า ที่ควรมีไว้คู่กาย อันได้แก่
1. หมากทุยหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
2. เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง
3. ตะกรุดไม้ครู หลวงปู่ภู วัดอินทร์
4. มีดหมอ (มีดบิน) หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์
5. ตะกรุดพิสมร หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย
6. ตะกรุดอุดครั่ง หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง
7. ราหู หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง
8. แหวนอักขระ หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว
9. ลูกสะกด เนื้อแร่บางไผ่ หลวงปู่จันทร์ วัดโมลี
อย่างที่ทราบกันดีว่า เครื่องรางของขลัง เป็นวัตถุมงคลที่ผู้คนนิยมพกติดตัวตามความเชื่อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เสริมพลังใจ และเพื่อความเป็น สิริมงคลของชีวิต แต่เหนือสิ่งอื่นใดนอกจากเราจะพกเครื่องรางของขลัง กันแล้ว สิ่งที่ไม่ควรลืมอย่างยิ่งคือ “การทำดี” เพราะนั่นคือ เกราะคุ้มภัย ชั้นดี ที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อหา.