ขุนแผนบ้านกร่าง สุพรรณบุรี
สุพรรณบุรีเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ เดิมเรียกกันว่าเมือง ” พันธุมบุรี ” เป็นเมืองในยุคทวารวดี จากหลักฐานทางโบราณคดี ปรากฏชื่อนี้ในพงศาวดารเหนือ เรียกอีกชื่อหนึ่งคือ “สุพรรณภูมิ” ซึ่งพบในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ระบุว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญเมืองหนึ่ง และ ในสมัยอยุธยา สุพรรณบุรีอยู่ในฐานะเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ที่สำคัญเมือนี้เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมายาวนานตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี
ที่สุพรรณบุรี มีการค้นพบ โบราณวัตถุทั้งพระบูชา และ พระพิมพ์จำนวนมาก โดยพระที่ค้นพบนั้นมีอายุเก่าแก่สุด ย้อนขึ้นไปในสมัย ทวารวดี เลยทีเดียว นอกจากนี้สุพรรณบุรี ยังเป็นแหล่งกำเนิด พระเครื่องยอดนิยมของวงการแล้ว ในบรรดาพระพิมพ์เหล่านั้น มีพระเครื่องประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมของ นักสะสมที่มีชื่อพ้องกับตัวละครในวรรณคดี ที่มีถิ่นกำเนิด ณ จังหวัดนี้ “ขุนช้าง-ขุนแผน” พระเครื่องที่จะได้นำมาเล่าสู่กันฟังนี้ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากพระขุนแผน บ้านกร่าง และ เหตุที่ได้ชื่อเช่นนี้ก็ไม่ใช่ว่า พระเครื่อง ดังกล่าวทำเป็นรูปของ ขุนแผน ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องแต่อย่างใด แต่เพราะประสบการณ์ที่ปรากฏอย่างเด่นชัด ทั้งในด้าน คงกระพันชาตรี และ เมตตามหานิยม เป็นเสน่ห์เปรียบดัง ขุนแผนแสนสะท้าน ที่เชี่ยวชาญ ทั้งศึกรบ และ ศึกรักนั่นเอง
ถึงอย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า พระปฏิมกรเป็นรูปลักษณ์แทน องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่เอาไปเปรียบด้วยบุคคล ผู้ยังมีกิเลสอยู่ถือว่า ไม่เหมาะสม แต่คนเก่าคนแก่ก็เรียกขานกันมาแต่โบราณ แล้วจะทำอย่างไรได้ ได้แต่ทำความเข้าใจกับผู้อ่านว่า ชื่อดังกล่าวเป็นเพียงสมัญญา ที่เชียนพระรุ่นเก่า ท่านตั้งให้ตามลักษณะของประสบการณ์ที่ได้พบก็แล้วกัน
พระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง เมื่อครั้งที่แตกกรุใหม่ๆ ก็ไม่มีชื่อเสียง ดังทุกวันนี้ คนยุคนั้นเรียกกันเพียงว่า “พระวัดบ้านกร่าง” คือถ้าเป็นพระองค์เดียวก็เรียก “พระบ้านกร่างเดี่ยว” ถ้าเป็นพระ 2 องค์คู่ติดกันก็เรียก “พระบ้านกร่างคู่” ต่อาจึงมีการตั้งชื่อให้เป็น พระขุนแผน และพระพรายเดี่ยว พระพรายคู่
พระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง เข้าใจว่ามีจำนวนถึง 84,000 องค์ตามคติการสร้าง พระพิมพ์ในสมัยโบราณ ( พระไตรปิฎก มีเนื้อความทั้งหมด 84,000 พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น พระวินัยปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์ , พระสุตตันตปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์ และ พระอภิธรรมปิฎก 42,000 พระธรรมขันธ์ ดังนั้นคนโบราณจึงนิยมสร้างพระตามจำนวนดังกล่าว ข้างต้นเพื่อแทนคำสั่งสอนของ สัมมาสัมพุทธเจ้า ) เมื่อพระแตกกรุขึ้นมาก็ได้มีผู้แยกเป็นพิมพ์ต่างๆ ตามความแตกต่างของพุทธลักษณะ จากบันทึกกล่าวว่ามีจำนวนกว่า 40 พิมพ์ มีทั้งที่เรียกกันว่า “พระขุนแผน” ซึ่งมีพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูง เช่น พิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ , พิมพ์ห้าเหลี่ยมอกเล็ก , พิมพ์ทรงพลใหญ่ , พิมพ์ทรงพลเล็ก , พิมพ์เถาวัลย์เลื้อย , พิมพ์ใบมะยม ฯลฯ ยังมีพิมพ์ที่เรียกว่า “พระพราย” ซึ่งตามวรรณคดี หมายถึงลูกของขุนแผน เรียกตามแบบตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผน เช่นกันคือ พรายเพชรพรายบัว นั่นเอง ซึ่งมีทั้งที่พิมพ์เป็นคู่ติดกัน เรียกว่า “พระพรายคู่” และองค์เดี่ยวๆ เรียกว่า “พระพรายเดี่ยว”
พระขุนแผนบ้านกร่าง ถูกค้นพบที่ วัดบ้านกร่างซึ่งตั้งอยู่ ณ ต.ศรีประจันต์ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ตรงกันข้ามกับที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ในปัจจุบัน การแตกกรุของพระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง เกิดจากเจดีย์หลังวิหารเก่าได้พังทลายลงมา เมื่อประมาณปี พ.ศ 2440 – 2445 จึงได้มีการค้นพบพระพิมพ์ต่างๆ จำนวนหลายหมื่นองค์
พระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง จัดเป็นพระเครื่องศิลปะสกุลช่างอยุธยาตอนกลาง ฝีมือช่างหลวง สันนิษฐานว่าสร้างยุคเดียวกับ พระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา พระขุนแผนทั้งสองกรุ มีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกันมาก ในด้านของพิมพ์ทรง แต่มีความแตกต่างกันในด้านของเนื้อหา
พระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคล เป็นพระดินเผา ที่มีการเคลือบ แต่พระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง เป็นเนื้อดินเผาธรรมดา โดยเนื้อดินจะหยาบ มีเม็ดกรวดทรายผสมอยู่จำนวนมาก พิมพ์ที่ได้รับความนิยม อาทิ พิมพ์ทรงพลใหญ่ , พิมพ์ทรงพลเล็ก พิมพ์อกใหญ่ , พิมพ์อกเล็ก , พิมพ์ซุ้มเถาวัลย์ , พิมพ์ใบไม้ร่วง , พิมพ์ใบมะยม , พิมพ์พระประธาน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพิมพ์ที่มีน้อย ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอีกจำนวนหนึ่ง , ส่วนพระพิมพ์พรายคู่ ก็มีหลายพิมพ์ด้วยกัน อาทิ พิมพ์หน้ายักษ์ , พิมพ์หน้าเทวดาใหญ่ , พิมพ์หน้าเทวดาซุ้มเดี่ยว , พิมพ์หน้าเทวดาซุ้มคู่ , พิมพ์หน้าเทวดา 3 ขีด , พิมพ์เศียรโต , พิมพ์หน้าแก่ , พิมพ์หน้าหนุ่ม , พิมพ์หน้าฤาษี 3 ขีด , พิมพ์หน้ายาว , พิมพ์หน้ายาว 3 ขีด , พิมพ์หน้ากลม , พิมพ์เข่าสูง , พิมพ์อกครุฑ , พิมพ์หน้ามงคล ฯลฯ
พระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง เป็นพระเนื้อดินเผา ที่มีความหยาบฟ่ามเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพระที่มีเนื้อละเอียดแน่นนั้น มีจำนวนน้อย สันนิษฐานว่า พระส่วนใหญ่มีเนื้อฟ่าม เกิดจากความรีบร้อนในการสร้างพระคือ เมื่อได้แม่พิมพ์พระมาแล้ว ก็นำดินบริเวณในแถบแม่น้ำท่าจีน ผสมกับน้ำ โดยไม่มีการโขลกให้ละเอียด อีกทั้งไม่มีการกรองเอาเม็ดกรวดเม็ดทรายออก ผสมกับว่าน แล้วนำไปผึ่งให้แห้ง ก่อนที่จะนำเข้าเตาเผาอีกทีหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเผาเสร็จแล้ว จึงเกิดเป็นรอยว่านหลุด และ มีส่วนผสมของกรวดทรายมาก วรรณะมีทั้งแดง สีพิกุล สีเขียว และ สีดำ ตามความอ่อนแก่ของความร้อนในขณะเผาไฟ แต่ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหยาบ หรือ ละเอียด สิ่งที่ขาดไม่ได้คือต้องมี ว่านดอกมะขาม , แร่ทรายเงิน , แร่ทรายทอง และ “รอยว่านหลุด” อยู่ด้วยทุกองค์
รอยว่านหลุด ดังกล่าว เป็นร่องเล็กๆ สัณฐานไม่แน่นอน เป็นรูปแท่งสี่เหลี่ยมบ้าง สามเหลี่ยมบ้าง และ เป็นร่องลึก ร่องตื้น ก็ได้ , รอยว่านหลุดนี้ถือเป็นเอกลักษณะของ เนื้อพระกรุวัดบ้านกร่าง ที่จะขาดเสียมิได้ , พระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง สมัยแตกกรุใหม่ๆ ถูกขนเอาไปไว้ที่ใต้ต้นโพธิ์ เรือที่ร่องไปมา แวะเก็บติดไม้ติดมือกันมาคนละองค์สององค์ ปัจจุบันนี้กลายเป็นของหายากไปเสียแล้ว