ประวัติ หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน จ.พัทลุง
หลวงพ่อคง พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านสวน ซึ่งเป็นศิษย์สายวัดเขาอ้อ และพระเครื่องที่หลวงพ่อคง ปลุกเสกนั้น แล้วแล้วแต่มีประสบการณ์ทั้งสิ้น วัดบ้านสวน ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นอีกวัดหนึ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่กับวัดเขาอ้อ กล่าวได้ว่า”วัดบ้านสวน”เป็นวัดสาขาหนึ่งของสำนักวัดเขาอ้อ เนื่องเพราะอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านสวนต่างล้วนเป็นศิษย์สำนักวัดเขาอ้อทั้งสิ้น ความเป็นมาของ”วัดบ้านสวน”กล่าวว่าได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2070 ตรงกับสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่า พระปรมาจารย์ผู้เฒ่าวัดเขาอ้อ พร้อมด้วยพุทธบริษัทเป็นผู้สร้างขึ้น และเจ้าอาวาสรูปแรกก็คงเป็น “ศิษย์” มาจากวัดเขาอ้อ ต่อมาเมื่อเสีย กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 วัดบ้านสวนอาจรกร้างทำให้เอกสารหลักฐานต่างๆ สูญหายไป มาปรากฏแต่ในชั้นหลังภายหลังจากที่พ่อท่านสมภารนอโม ซึ่งได้เดินทางมาศึกษาวิชาในสำนักวัดเขาอ้อ
พระรูปเหมือน อาจารย์ทองเฒ่า เขาอ้อ อ.ชุมชัยคิรี ปี 2497
ต่อมาได้ออกเดินธุดงค์ในละแวกบ้านเขาอ้อ ดอนศาลา บ้านสวน และเห็นว่าที่บริเวณบ้านสวนเป็นเนินสูง มีวัดเก่าแก่รกร้าง ควรที่จะบูรณะ จึงได้ปักกลดบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในบริเวณนั้น โดยเมื่อแรกได้สร้างกุฏิ ซึ่งมีปรากฏหลักฐานอยู่บริเวณทางทิศใต้ของวัด ภายหลังได้มีผู้ศรัทธาทำรั้วรอบขอบชิดเป็นขอบเขตของกุฏิไว้เป็นสัดส่วน หากปัจจุบันพระครูขันตยาภรณ์ (พรหม ขนฺติโก) เจ้าอาวาสวัดรูปปัจจุบัน ได้รื้อสร้างเป็นวิหารพ่อท่านสมภารนอโมเป็นที่ถาวรสถานแล้ว พ่อท่านสมภารนอโมได้ทำนุบำรุงเสนาสนะและโบราณวัตถุต่างๆ ภายในวัดให้มีสภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะโบสถ์ ทำด้วยไม้กลมแก่นของต้นหาด หลังคามุงจาก มีพระพุทธรูปองค์เล็กเป็นประธานอยู่ในโบสถ์ ต่อมาในสมัยพระฤทธิ์ อิสฺสโร ได้สร้างโบสถ์ใหม่คร่อม และหลังจากนั้นในสมัยพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้รื้อหลังที่คร่อม แล้วสร้างโบสถ์หลังใหม่ขนาดใหญ่ 2 ชั้น ในการสร้างอุโบสถใหม่ครั้งนี้ ได้มีการขุดลูกนิมิตเดิมที่ฝังไว้ ได้พบหัวนอโมในหลุมลูกนิมิตด้วย เป็นหัวนอโมสมัยกรุงศรีอยุธยา พ่อท่านสมภารนอโม มีสามเณรรูปหนึ่งคอยติดตามรับใช้ ครั้งหนึ่งได้ธุดงค์ไปจำพรรษาโปรดสัตว์ยังภูเขาดิน ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้ของวัดบ้านสวน ใกล้บริเวณมีคลองอยู่เป็นสถานที่ลงล้างบาตรของพ่อท่านสมภารนอโม สามเณรได้นำบาตรลงล้างในคลองนี้ จึงเรียกติดปากชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า “คลองศาลาเณร” นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าว่าพ่อท่านสมภารนอโมได้เดินทางไปร่วมพิธีฉลองพระบรมธาตุวัดพะโคะ ระหว่างทางท่านได้ปักกลดที่บ้านท่าสำเภาใต้ (อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาดิน) มีผู้ศรัทธาหล่อพระพุทธรูปสมภารนอโมขึ้นไว้เป็นที่สักการะสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
เป็นที่เล่าลือกันว่า พ่อท่านสมภารนอโมเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เก่งกล้าวิทยาคม สามารถสำแดงปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ แม้ว่าพ่อท่านสมภารนอโมจะมรณภาพไปแล้วก็ยังสำแดงปาฏิหาริย์ให้ได้เห็นกัน ความจริงในการมรณภาพของพ่อท่านสมภารนอโมนั้น ไม่มีใครพบเห็นร่างของท่าน เนื่องเพราะพ่อท่านสมภารนอโมได้หายไปจากวัดอย่างไร้ร่องรอย ชาวบ้านเล่าขานกันว่าท่าน “โละ” กล่าวคือ หายตัวกลายเป็นแสงสว่างพุ่งเป็นทางไปในท้องฟ้า เช่นเดียวกับอัตโนประวัติของหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ตอนหนึ่งที่หายไปจากวัดพะโคะ อิทธิคุณปาฏิหาริย์ของพ่อท่านสมภารนอ โมยังเป็นที่กล่าวขานอยู่ถึงทุกวันนี้ ชาวบ้านสวนและบ้านใกล้เคียง เมื่อได้รับความเดือดร้อนเรื่องใด มักมาบนบานพ่อท่านสมภารนอโมให้ช่วยเหลือ ก็ได้สมหวังตามลำดับ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านสวน “ศิษย์” สายสำนักวัดเขาอ้ออีกรูปหนึ่ง คือ พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) นับว่าเป็นที่น่าสนใจยิ่งอีกรูปหนึ่ง โดยหลวงพ่อคง วัดบ้านสวนเป็น “ศิษย์” สืบทอดวิชามาจากพระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) วัดดอนศาลา
พระครูพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ ปีขาล ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2445 ที่บ้านทุ่งสำโรง หมู่ที่ 8 ตำบลนาขยาด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรของนายส่ง มากหนู และนางแย้ม มากหนู มีพี่น้องด้วยกัน 4 คน คือ
1. นายปลอด มากหนู
2. นายกล่ำ มากหนู
3. นายกราย มากหนู
4. พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต)
หาก บิดามารดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ครั้ง พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ยังเยาว์วัย จึงได้อยู่ในความอุปการะของนายชู เกิดนุ้ย และนางแก้ว เกิดนุ้ย ผู้เป็นญาติ ซึ่งเมื่อพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) มีอายุพอสมควรแก่การศึกษาเล่าเรียนแล้ว นายชู เกิดนุ้ย ได้นำไปฝากเป็นศิษย์พระครูสิทธิยาภิรัต (พระอาจารย์เอียด ปทุมสโร) ที่วัดดอนศาลา โดยเมื่อแรกได้ศึกษากับพระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) โดยตรง ต่อเมื่อทางวัดดอนศาลาได้จัดตั้งโรงเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ศึกษาร่ำเรียนในโรงเรียนแห่งนั้นจนสำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดเมื่อปี พ.ศ. 2462
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสุนทรวาส ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน มีพระครูกาชาด (แก้ว) วัดพิกุล ตำบลชะมวง อำเภอควนขนุน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) วัดดอนศาลา เป็นพระศีลาจารย์ บรรพชาแล้วไปจำพรรษาอยู่วัดดอนศาลา แล้ววันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2466 จึงได้บรรพชาเป็นพระภิกษุ ณ วัดดอนศาลา มีพระครูกาชาด (แก้ว) วัดพิกุลทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการหนู วัดเกาะยาง ตำบลนาขยาด อำเภอควนขนุน เป็นพระกรรมวาจารย์ หลวงพ่อคง ได้รับฉายาว่า “สิริมโต”
หลวงพ่อคง วัดบ้านสวนอยู่จำพรรษาและศึกษาร่ำเรียนที่วัดดอนศาลา แต่ไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดพิกุลทองจนสอบนักธรรมตรีได้ในปีที่บวช หากแต่เพราะสุขภาพไม่เอื้ออำนวยให้ อีกทั้งครูสอนพระปริยัติธรรมสมัยนั้นหายากยิ่ง หลวงพ่อคง จึงเรียนพระปริยัติธรรมแต่เพียงเท่านั้น แต่ก็ได้ศึกษาวิชาไสยเวท ตามตำรับวัดเขาอ้อจากพระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) อีกทั้งยังคงขวนขวายในการหาตำรับตำราไสยศาสตร์ของท่านอาจารย์เฒ่าวัดเขาอ้อ มาศึกษาเองเพิ่มเติม จนมีความรู้แตกฉานและทรงวิทยาคุณในวิชาแขนงนี้ จนในชั้นหลังได้เป็นที่รู้จักและเคารพนับถือจากประชาชนทั่วไปทั้งในจังหวัด พัทลุงเอง หรือจังหวัดใกล้เคียง และเริ่มมีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้นเป็นลำดับ ต่างเรียกว่า พระอาจารย์คงบ้าง “พ่อท่านคง”บ้าง แม้ในชั้นหลังจะมีสมณศักดิ์แล้วก็ยังคงเรียกขานเช่นเดิม หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน ไม่มีใครเรียกขานในนาม พระครูพิพัฒนสิริธรกันเลย
กล่าวในหน้าที่การงานและการสร้างสาธารณประโยชน์ของพระครูพิพัฒนสิริธร (คง สิริมโต) นั้น ในปี พ.ศ. 2475 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบ้านสวน ในปี พ.ศ. 2482 พ่อท่านคง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระใบฎีกา ฐานานุกรมในพระครูกัลยาณปรากรมนิวิฎฐ์ เจ้าคณะอำเภอควนขนุน ถึงปี พ.ศ. 2487 พ่อท่านคง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านสวน ในปีพ.ศ.2491 หลวงพ่อคง ได้เลื่อนสมณศักดิ์จากพระใบฎีกามาเป็นพระครูชั้นประทวน ที่พระครูคง สิริมโต ปีรุ่งขึ้นพ.ศ.2492 พระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) เจ้าอาวาสวัดดอนศาลา และเจ้าคณะตำบลมะกอกเหนือ มรณภาพลงเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2491 ทางเจ้าคณะอำเภอควนขนุนจึงมอบหมายให้ท่านรักษาการแทนเจ้าคณะตำบลมะกอกเหนือ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลมะกอกเหนือในปีพ.ศ.2493 อีก 3 ปีถัดมา คือ ในปีพ.ศ.2496 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตตำบลมะกอกเหนือ และยังได้รับมอบหมายจากเจ้าคณะอำเภอควนขนุนให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในพื้นที่ ตำบลใกล้เคียง เช่น ตำบลปันแต เป็นต้น จากบันทึกหลักฐานในการทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ของพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ว่า ได้ทำหน้าที่บรรพชาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2496 และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2517 ก่อนหน้าที่จะมรณภาพ 5 วัน ได้ทำการอุปสมบทเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,387 รูป ปัจจุบันลัทธิวิหาริกของพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ที่ยังอยู่ในสมณเพศประมาณ 30 รูป ซึ่งได้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่สงฆ์ และสมณศักดิ์ก็มาก
ต่อเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2500 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ “พระครูพิพัฒน์สิริธร” ทางด้านการพัฒนาก่อสร้างสาธารณประโยชน์ของ พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) นับตั้งแต่เมื่อชาวบ้านได้เดินทางไปยังวัดดอนศาลา เพื่อขอพระภิกษุไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านสวนที่ว่างลงต่อพระครูสิทธิ ยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) ที่ได้ให้ชาวบ้านเลือกพระภิกษุภายในวัดดอนศาลา ซึ่งขณะนั้นมีหลายรูปด้วยกันที่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ พร้อมจะเป็นเจ้าอาวาสวัดได้ ซึ่งชาวบ้านได้เลือกพระภิกษุคง สิริมโต เนื่องเพราะว่ามีอุปนิสัยใจคอเยือกเย็น มีอัธยาศัยดี มีบุคลิกลักษณะเหมาะสม เป็นผู้เอาการเอางาน สามารถที่จะพัฒนาวัดให้เจริญได้ ประกอบกับพระภิกษุคง สิริมโต เป็นผู้เคร่งครัดในการปฏิบัติพระธรรมวินัย จนเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านมาก่อน เมื่อหลวงพ่อคง มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดบ้านสวนแล้วนั้น นอกเหนือจากการปกครองคณะสงฆ์ของวัด พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ยังได้ร่วมมือร่วมใจกับชาวบ้านบ้านสวนในการพัฒนาวัด และสร้างสาธารณประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนา และชาวบ้านทั้งหลาย
โดยในปีแรกที่หลวงพ่อคง ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัด ได้จัดให้มีการศึกษาหนังสือไทยแก่เด็กชาวบ้านขึ้นภายในวัด โดยอาศัยศาลาโรงธรรมของวัดเป็นที่ศึกษาแทนโรงเรียน ให้พระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นครูสอน การศึกษาได้เจริญเป็นลำดับมาจนภายหลังได้ก่อสร้างเป็นโรงเรียนประชาบาล ชื่อโรงเรียนประชาบาลตำบลมะกอกเหนือ 2 (วัดบ้านสวนคงวิทยาคาร) เปิดสอนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 ในปีพ.ศ.2477 ได้จัดตั้งสำนักเรียนสอนพระปริยัติธรรมขึ้น โดยในชั้นแรกพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้ทำหน้าที่สอนเอง ทั้งนี้ด้วยสมัยนั้นหาผู้สอนพระปริยัติธรรมได้ยากมาก ต่อเมื่อได้ครูสอนแล้วหลวงพ่อคงท่านจึงได้หยุดสอนหนังสือ ในปีพ.ศ.2479 เมื่อมีพระภิกษุจำพรรษาที่วัดเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่มีกุฏิเพียงพอ “หลวงพ่อคง”จึงได้สร้างกุฏิขึ้น 1 หลัง มี 3 ห้อง และในปีพ.ศ.2482 ได้สร้างเพิ่มอีก 1 หลัง ปีพ.ศ.2484 ได้สร้างอาคารเรียนโรงเรียนประชาบาลตำบลมะกอกเหนือ 2 (โรงเรียนวัดบ้านสวนคงวิทยาคาร) ซึ่งในการจัดสร้างครั้งนี้พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้ขออนุญาตทางราชการทำการตัดไม้ในป่ามาเลื่อยเป็นแผ่นกระดานสำหรับทำพื้น และฝา และในปีพ.ศ.2486 ได้จัดหาทุนสร้างโต๊ะ เก้าอี้สำหรับครู 2 ชุด โต๊ะและม้านั่งสำหรับนักเรียน 30 ชุด กระดานดำ 3 แผ่น มอบให้กับทางโรงเรียน พ.ศ.2488 ได้สร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นอีกหนึ่งหลัง เป็นกุฏิไม้ใต้ถุนสูง ต่อมาในปีพ.ศ.2490 เมื่อโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมวัดบ้านสวน มีพระภิกษุสามเณรมาศึกษาเพิ่มเป็นจำนวนมาก อาคารเรียนไม่เพียงพอจึงได้สร้างขึ้น 1 หลัง เป็นอาคาร 2 ชั้น พ.ศ.2492 ได้สร้างกุฏิสงฆ์เพิ่มอีก 1 หลัง เป็นกุฏิไม้ใต้ถุนสูง
ในปี พ.ศ. 2493 ได้สร้างบ่อน้ำเพิ่มขึ้น 1 บ่อ จากเดิมที่มีอยู่เพียงบ่อเดียว เพื่อสาธารณ ประโยชน์ทั้งวัดและชาวบ้านได้ใช้ในยามหน้าแล้ง พอปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2494 ได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างถนนเข้าสู่วัด โดยเชื่อมต่อกับถนนใหญ่สายควนขนุน-ปากคลอง โดยได้ทำถนนพร้อมกัน 2 สาย คือ สายทางทิศตะวันออก และสายทางทิศตะวันตกของวัด ระยะทางของถนนที่สร้างยาวสายละ 400 เมตร ถึงปี พ.ศ. 2496 ได้ร่วมกับชาวบ้านตัดถนนขึ้นอีก 2 สาย จากวัดบ้านสวนตัดไปทางทิศใต้ผ่านหมู่บ้านในหมู่ที่ 5 และ 6 ตำบลมะกอกเหนือไปสู่วัดแจ้ง (คอกวัว) ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ส่วนอีกสายหนึ่งตัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านหมู่ที่ 6 ตำบลมะกอกเหนือ เข้าหมู่ที่ 3 ตำบลโตนดด้วน
พ.ศ.2497 ได้สร้างกุฏิขึ้นอีก 1 หลัง เป็นกุฏิ 2 ชั้น แบบครึ่งตึกครึ่งไม้ เพื่อใช้เป็นกุฏิสำหรับเจ้าอาวาสวัด และพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) หลวงพ่อคง วัดบ้านสวนได้พำนักที่กุฏิหลังนี้ตราบจนมรณภาพ ครั้นปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2498 พระพุทธิธรรมธาดา เจ้าคณะอำเภอควนขนุนได้ชักชวนพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ไปจำพรรษาที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อออกพรรษาแล้วจึงได้เดินทางกลับยังวัดบ้านสวน และได้นำความรู้ด้านวิปัสสนากรรมฐานมาฝึกปฏิบัติให้กับชาวบ้าน หากแต่ต่อมาเมื่อมีภาระทางการบริหารคณะสงฆ์ และการพัฒนาวัดด้านอื่นๆ มากขึ้นจึงได้งดไปโดยปริยาย.