ประวัติ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หรือ พระราชพรหมยาน วีระ ถาวโร เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2459 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง , ต.สาลี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ในครอบครัวของชาวนาซึ่งมีฐานะค่อนข้างดี บิดาชื่อ นายควง สังข์สุวรรณ มารดาชื่อนางสมบุญ สังข์สุวรรณ ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 จากพี่น้องร่วมบิดามารดาจำนวน 5 คน ดังนี้ :
1. นายวงษ์ สังข์สุวรรณ
2. นางสำเภา ยาหอมทอง ( สังข์สุวรรณ )
3. หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หรือ พระราชพรหมยาน วีระ ถาวโร
4. นายเวก ( หวั่น ) สังข์สุวรรณ
5. เด็กหญิง อุบล สังข์สุวรรณ ถึงแก่กรรมตอนอายุ 4 ขวบ
ก่อนที่ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หรือ พระราชพรหมยาน วีระ ถาวโร จะเกิดนั้น มารดาของท่านฝันว่าเห็น พระพรหม มีสีเหลืองเป็นทองคำเหมือนพระพุทธรูป นอนลอยไปในอากาศ มีเพชรประดับแพรวพราวทั้งตัว เข้าทางหัวจั่วด้านทิศเหนือ เข้ามานั่งที่ตักท่าน มารดาก็กอดไว้ แล้วก็หายเข้าไปในกาย ตอนที่ท่านเกิดมาใหม่ๆ หลวงพ่อเล็ก เกสโร ซึ่งมีฐานะเป็นลุง ได้กล่าวว่า เจ้าเด็กคนนี้มาจากพรหม ดังนั้นจึงให้ชื่อว่า “พรหม” และต่อมาภายหลัง คนที่จดสำมะโนครัวเขามาเปลี่ยนชื่อให้เป็น “สังเวียน” ยายกับชาวบ้านเรียกว่า “เล็ก” ส่วนมารดาและพี่ๆน้องๆเรียกว่า “พ่อกลาง”
พ.ศ.2466 อายุ 7 ขวบ เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลวัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา จบชั้นประถมปีที่ 3 พ.ศ.2474 อายุ 15 ปี อาศัยอยู่กับยายที่บ้านหน้าวัดเรไร อ.ตลิ่งชัน จ.ธนบุรี ได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ พ.ศ.2478 อายุ 19 ปี เข้าทำงานเป็นเภสัชกรทหาร สังกัดกรมแพทย์ทหารเรือ ( ปัจจุบันคือโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า )
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง อุทัยธานี กับพระอาจารย์ร่วมสมัยท่าน
อุปสมบท
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หรือ พระราชพรหมยาน วีระ ถาวโร ท่านอุปสมบทตอนอายุครบ 20 ปี เมื่อวันที่ 16 กรฎกฎาคม พ.ศ 2479 เวลา 13.00 น. ที่พัทธสีมาวัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูรัตนาภิรมย์ ( อยู่ ติสฺโส ) เจ้าอาวาสวัดบ้านแพน เป็นพระอุปัชฌาย์ , พระครูวิหารกิจจานุการ ( ปาน โสนนฺโท ) เจ้าอาวาสวัดบางนมโค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์เล็ก เกสโร วัดบางนมโค เป็นพระอนุสาวนาจารย์
คำสั่งพระอุปัชฌาย์
ขณะเข้าบวช หลวงพ่อปาน ท่านบอกท่านอุปัชฌาย์ว่า เจ้านี่หัวแข็งมาก ต้องเสกด้วยตะพดหนักหน่อย ท่านอุปัชฌาท่านเป็นพระทรงธรรมเหมือนหลวงพ่อปาน หลวงพ่อเล็กก็เหมือนกัน ท่านอุปัชฌาย์ท่านยิ้มแล้วพูดว่า ” 3 องค์นี้ไม่สึก อีกองค์ต้องสึกเพราะมีลูก เมื่อจะสึกไม่ต้องเสียดายนะลูก เกษียนแล้วบวชใหม่มีผลสมบูรณ์เหมือนกัน 2 องค์นี้พอครบ 10 พรรษาต้องเข้าป่า เมื่อเข้าป่าแล้วห้ามออกมายุ่งกับชาวบ้านจนกว่าจะตาย จะพาพระและชาวบ้านที่อวดรู้ตกนรก จงไปตามทางของเธอ ท่านปานช่วยสอนวิชาเข้าป่าให้หนักหน่อย ท่านองค์นี้ ( หมายถึงฉัน ) จงเข้าป่าไปกับเขา แต่ห้ามอยู่ในป่าเป็นวัตร เพราะเธอมีบริวารมาก ต้องอยูสอนบริวารจนตาย พอครบ 20 พรรษาจงออกจากสำนักเดิม เธอจะได้ดี จงไปตามทางของเธอ ฉันบวชพระมามากแล้วไม่อิ่มใจเท่าบวชเธอ”
การแสวงหาและการปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
ในปี พ.ศ.2480 ท่านสอบได้นักธรรมชั้นตรี , พ.ศ.2481 สอบได้ นักธรรมชั้นโท และ พ.ศ.2482 สอบได้นักธรรมชั้นเอก
ระหว่างพรรษาที่ 1-4
– เรียนอภิญญา
– ธุดงค์ป่าช้า , ป่าศรีประจันต์ , พระพุทธบาท , พระพุทธฉาย , เขาวงพระจันทร์ , เขาชอนเดื่อ , ตาคลี จ.นครสวรรค์ , ดงพระยาเย็น , ภูกระดึง , พระแท่นดงรัง ฯลฯ
– ศึกษาวิปัสสนา
ช่วงปี พ.ศ.2480-2483 ได้ศึกษาพระกัมมัฏฐาน จากครูบาอาจารย์หลายท่านเช่น หลวงพ่อปาน โสนนฺโท เจ้าอาวาสวัดบางนมโค , หลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก , พระอาจารย์เล็ก เกสโร วัดบางนมโค , พระครูรัตนาภิรมย์(อยู่ ติสฺโส) เจ้าอาวาสวัดบ้านแพน , พระครูอุดมสมาจารย์ วัดน้ำเต้า , พลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ , หลวงพ่อเนียม วัดน้อย , หลวงพ่อโหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดอัมพวัน (วัดคลองมะดัน) และ หลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ
พ.ศ. 2483 หลวงพ่อฤาษีลิงดำได้มาจำพรรษาที่วัดช่างเล็ก อ.ตลิ่งชัน จ.ธนบุรี เพื่อเรียนภาษาบาลี จากนั้นย้ายมาอยู่ที่วัดอนงคารามในช่วงออกพรรษา ในสมัยสมเด็จพระพุทธจารย์นวม พุทฺธสโร อยู่วัดช่างเล็กในช่วงเข้าพรรษา ท่านก็ได้ศึกษาเพิ่มเติมกรรมฐานกับ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และ พบพระสุปฏิปันโนอีกมากมายเช่น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) เป็นต้น
พ.ศ. 2486 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค เปลี่ยนชื่อจาก “พระมหาสังเวียน” เป็น “พระมหาวีระ” เพื่อไม่ให้คล้ายกับ พระมหาสำเนียง ที่อยู่วัดช่างเล็ก ที่เดียวกัน
พ.ศ. 2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ย้ายมาอยู่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้เป็นรองเจ้าคณะ 4 วัดประยูรวงศาวาส และ ฝึกหัดเป็นนักเทศน์
พ.ศ. 2492 ท่านจำพรรษาที่วัดลาวทอง จ.สุพรรณบุรี
พ.ศ. 2494 ท่านได้เดินทางกลับไปอยู่วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโค
พ.ศ. 2500 ท่านอาพาธหนัก เข้าโรลพยาบาลกรมแพทย์ทหารเรือ
พ.ศ. 2502 ท่านได้มาพักฟื้นที่วัดชิโนรสาราม กรุงเทพฯ จากนั้นจึงได้ย้ายไปอยู่วัดโพธิ์ภาวนาราม อ.เมือง จ.ชัยนาท ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์ ได้ลูกศิษย์รุ่นแรก 6 คน
พ.ศ. 2505 ได้ไปจำพรรษาที่วัดพรวน อ.เมือง จ.ชัยนาท เป็นเวลา 1 พรรษา
พ.ศ. 2506 ท่านกลับมาจำพรรษาที่ วัดโพธิ์ภาวนาราม พอกลางเดือนมิถุนายน ก็ได้ลาพุทธภูมิ
พ.ศ. 2508 จำพรรษาที่ วัดปากคลองมะขามเฒ่า ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ..ชัยนาท แล้วเริ่มไป-กลับวัดสะพาน อ.เมือง จ.ชัยนาท เพื่อสอนกรรมฐาน
พ.ศ. 2510 ได้สอนวิชามโนมยิทธิ และได้จำพรรษาที่วัดสะพาน อ.เมือง จ.ชัยนาท
พระปิดตามหาลาภ พิมพ์ใหญ่ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง เนื้อผง[/caption]
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าซุงของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
พ.ศ. 2511 หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านมีอายุครบ 52 ปี จึงมาอยู่วัดจันทาราม(วัดท่าซุง) ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี ท่านได้ทำการบูรณะ สร้างและขยายวัดจากเดิมมีพื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน 07 2/10 ตารางวา จนกระทั่งเป็นวัดที่มีบริเวณพื้นที่ประมาณ 289 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา มีอาคาร และ ถาวรวัตถุต่างๆจำนวน 144 รายการในวัด มูลค่าการก่อสร้าง 611,949,193 บาท สิ่งก่อสร้างทั้งในและนอกวัดอาทิเช่น หอสวดมนต์ ,พระพุทธรูป , อาคารปฏิบัติกรรมฐาน , ศาลาการเปรียญ , วิหาร 100 เมตร , โบสถ์ใหม่ , บูรณะโบสถ์เก่า , ศาลา 2 ไร่ , 3 ไร่ , 4 ไร่ และ 12 ไร่ , หอไตร , โรงพยาบาลศูนย์แม่และเด็ก ชนบทที่ 61 , พระจุฬามนี , มณฑปท้าวมหาราชทั้ง 4 , พระบรมราชานุสาวรีย์ 6 พระองค์ , พระชำระหนี้สงฆ์ , โรงไฟฟ้า , โรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา , ศูนย์สงเคราะผู้ยากจนในแดนทุรกันดาร ตามพระราชประสงค์ เป็นต้น ทั้งยังได้ช่วยการก่อสร้างวัดอื่นๆในประเทศอีกมากมาย
สมณศักดิ์
– พ.ศ. 2527 เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระสุธรรมยานเถร
– พ.ศ. 2532 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชพรหมยาน ไพศาลภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
ผลงานต่าง
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ ในพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ ตลอดระยะเวลาที่อุปสมบทอยู่ ท่านได้สร้างโรงพยาบาล , โรงเรียน , จัดตั้งธนาคารข้าว , ออกเยี่ยมทหารกล้าของชาติ และ ตำรวจตระเวณชายแดนตามหน่วยต่างๆ เพื่อปลุกปลอนขวัญกำลังใจ แจกอาหาร และ ยา , อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และ วัตถุมงคลทั่วประเทศ
ทางด้านศาสนา ได้สั่งสอนพุทธบริษัทศิษยานุศิษย์ ให้มุ่งพระนิพพานเป็นหลัก โดยให้ประพฤปฏิบัติสำรวมกาย วาจา ใจ มุ่งในทาน ศีล สมาธิ และ ปัญญา ทั้งในทางกรรมฐาน 40 และ มหาสติปัฏฐานสูตร ได้พิมพ์หนังสือคำสอนจำนวนมาก ทั้งบันทึกเทปคำสอนกว่า 1,000 ม้วน นอกจากนี้ยังได้แสดงธรรมเทศนาทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และ วิทยุโทรทัศน์เป็นครั้งคราว และ ยังเดินทางไปสงเคราะห์คณะศิษย์ต่างจังหวัด และ ต่างประเทศทุกๆปี
ทางด้านวัตถุ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านได้ช่วยสร้าง พระพุทธรูป และ ถาวรวัตถุไว้ในพุทธศาสนามากว่า 30 วัด รวมทั้งการบูรณะฟื้นฟูวัดท่าซุงด้วยเงินกว่า 600 ล้านบาท , สร้างพระไตรปิฎก , ถวายผ้าไตรแก่วัดต่างๆ ปีละไม่ต่ำกว่า 200 ไตร
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านได้สนองพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการจัดตั้งศูนย์สงเคราะผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งศูนย์ฯนี้ได้ดำเนินการสงเคราะห์ราชฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ทั้งการแจกเสื้อผ้า อาหารและยารักษาโรคแก่ราชฎรผู้ยากจน , ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ , จัดการแพทย์เคลื่อนที่ออกรักษาพยาบาลราษฎรผู้เจ็บป่วย , การให้ทุนนักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน , การบริจาคทุนทรัพย์ให้แก่มูลนิธิ และ โรงพยาบาลต่างๆ ฯลฯ
พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤาษีลิงดำ เป็นปูชนียบุคคลผู้อยู่ด้วยความกรุณาเป็นปกติ พร่ำสอนธรรม สิ่งที่เป็นประโยชน์ และ สงเคราะห์เกื้อกูลมหาชนด้ยเมตตามหาศาลสมกับเป็น ศากยบุตรพุทธชิโนรสแท้องค์หนึ่ง
การมรณภาพ
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หรือ พระราชพรหมยาน วีระ ถาวโร ท่านอาพาธด้วยโรคปอดบวม และ ติดเชื้อในกระแสโลหิต ได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และ มรณภาพที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2535 เวลา 16.10 น.สิริอายุรวม 76 ปี ปัจจุบันศพของท่านได้บรรจุในโรงแก้วบนบุษบกทองคำที่ประดับด้วยอัญมณีอันวิจิตร ณ วัดท่าซุง ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี