ประวัติหลวงพ่อหรุ่น วัดอัมพวัน
ตำนานยันต์เก้ายอด หลวงพ่อหรุ่น แห่งวัดอัมพวัน
ประวัติของพระเกจิอาจารย์นาม “หลวงพ่อหรุ่น” หลักฐานข้อมูลไม่แน่ชัด เช่นเดียวกับพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าๆทั้งหลาย
แต่ความน่าสนใจของหลวงพ่อหรุ่น คือฉายานาม “เก้ายอด” ที่ได้รับมาจากชื่อเสียงในด้านการสักยันต์
หลวงพ่อหรุ่น เกิดเมื่อประมาณปี พ.ศ.2390 ที่บ้านตำบลเชียงราก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายน้อย ใจอาภา และ นางคำ ใจอาภา
อุปสมบท ณ วัดลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
ท่านอุปสมบท ประมาณปี พ.ศ.2431 มีพระญาณไตรโลก (สะอาด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งยังเป็นที่ “พระธรรมราชานุวัตร” เป็นพระอุปัชฌาย์
ส่วนพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์นั้น เป็นที่ถกเถียงกัน บ้างก็ว่าเป็นพระวัดลำลูกกา บ้างก็ว่าเป็นวัดกลางนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บ้างก็ว่าเป็นพระวัดสามไห แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดลำลูกกามากกว่า
ภายหลังจากอุปสมบทได้หลายพรรษาแล้ว ท่านจึงเริ่มเดินธุดงค์ ก่อนหน้านั้นนอกจากจะได้ศึกษาพระธรรมวินัยแล้ว ยังได้ร่ำเรียนด้านวิปัสสนากรรมฐานด้วย ภายหลังได้ธุดงค์มาปักกลดในบริเวณข้างวัดอัมพวัน ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ชาวบ้านได้เห็นถึงกิจวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด และมีคาถาอาคมแก่กล้าจึงได้นิมนต์ท่านมาพำนักที่วัดอัมพวันตั้งแต่บัดนั้น
กล่าวสำหรับวัดอัมพวัน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ราว พ.ศ.2385 โดยพระยาราชชนะสงคราม (วัน) เป็นผู้สร้างเพื่ออุทิศแก่มารดาของท่านชื่อ “อ่ำ“”จึงได้รับการขนานนามวัดว่า “วัดอ่ำวัน” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอัมพวัน” เพื่อให้มีความหมายดีขึ้น
วัดอัมพวันได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2395
หลวงพ่อหรุ่น ในช่วงที่จำพรรษาวัดอัมพวัน นั้น ชื่อเสียงของท่านโด่งดังในด้านเครื่องรางของขลัง คือ ตะกรุดกระดูกแร้ง และที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านมากคือการ “สักยันต์” แผ่นหลัง ที่มีพุทธคุนเป็นมหาอุตม์ ด้านคงกระพันชาตรี จึงเป็นที่นิยมชมชอบ โดยเฉพาะนักเลง “ก๊กเก้ายอด” ที่ท่านสักยันต์ให้จนได้รับฉายาว่า “หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด“
วัตถุมงคลของหลวงพ่อหรุ่น
– ตะกรุด กระดูกห่านจารมือ อุดผงฝังตะกรุดทองแดง
– ตะกรุด กระดูกแร้ง จารมือ
– ตะกรุดโทน ยาวประมาณ 7 นิ้ว
– แหวนเก้ายอด
– เหรียญปั๊มรูปเหมือน
ที่กล่าวมาล้วนมีชื่อเสียงโด่งดัง พุทธคุณครอบจักรวาล เป็นที่เสาะแสวงหาของนักสะสมพระเครื่องยิ่งนัก