หลวงพ่อผาง จิตฺตฺคุตฺโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต ยอดนักพัฒนา เมืองขอนแก่น แคว้นอีสาน ( ตอน3 )
หลวงพ่อผาง จิตตฺคุตฺโต กับการพัฒนา
หลวงพ่อผาง จิตตฺคุตฺโต แห่งวัดอุดมคงคาคีรีเขต ( ธรรมยุต ) ชื่อเดิมของท่านคือ ผาง นามสกุล คลองยุติ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2445 ณ บ้านกุดเกษียร อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โยมบิดาชื่อ ทัน โยมมารดาชื่อ บับ มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน 3 คน พี่คนโตชื่อนายแสน คลองยุติ ( ถึงแก่กรรมแล้ว ) , นางบาง คลองยุติ ยังมีชีวิตอยู่ แต่บวชเป็นชี เมื่อปี พ.ศ. 2526 อายุในปีนั้น 85 ปี
ดั่งได้เกริ่นในตอน 1 บ้างแล้วว่า หลวงพ่อผาง ท่านเป็นพระภิกษุผู้ทรงคุณฝ่ายวิปัสสนา ไม่ได้ติดแน่นใน ลาภ ยศ สรรเสริญ ด้วยเหตุนี้ส่วนลึกๆ ของท่านจึงไม่ใช่ หรือ ไม่น่าจะเป็นพระนักพัฒนา อย่างไรก็ตามหลังจากที่ หลวงพ่อผาง ได้เปลี่ยนญัตติ มาเป็นพระธรรมยุตแล้ว ท่านก็ได้เข้าร่วมปฏิบัติธรรม กับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “พระอาจารย์ใหญ่” สายวิปัสสนากรรมฐาน หรือ ที่ดั้งเดิมเรียกกันว่า “พระป่า” พร้อมทั้งได้ร่วมโครงการเผยแพร่พระศาสนา กับ คณะพระธรรมทูตในสมัย พระอาจารย์ปิ่น มุทุกันต์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ และ หลวงพ่อผาง ได้รับเกียรติให้อยู่ในคณะพระธรรมทูต พระครูโอภาสสมณกิจ วัดป่าธรรมวิเวก อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ( พระปลัดโอภาส ) นโยบายของโครงการเผยแพร่พระศาสนา ( ธรรมยุติกะนิกาย ) ได้ระบุอย่างชัดเจนในภาระะหน้าที่ช่วยพัฒนาหมู่บ้าน , พัฒนาถนนหนทาง , พัฒนาโรงเรียนประชาบาล , พัฒนาแหล่งน้ำ , อนุรักษ์ธรรมชาติ , รักษาสาธารณสมบัติ และ ช่วยอบรมศิลธรรม หลวงพ่อผาง ได้ดำเนินตามโครงการ 5 ปี และก็สามารถพัฒนาได้มากเกินความคาดหมายที่วางไว้ ซึ่งได้แก่ การตัดถนนทางเข้าหมู่บ้าน และ สร้างถนนเชื่อมหมู่บ้านต่างๆ
ย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับความเป็น “พระนักพัฒนา ” ของหลวงพ่อผาง เมื่อปี พ.ศ. 2494 ชาวบ้านญาติโยมแห่งบ้านนาดูน หรือ ต่อมาคือ วัดอุดมคงคาคีรีเขตในปัจจุบัน มีประวัติว่า ชาวบ้านญาติโยมได้พร้อมใจกันนิมนต์ หลวงพ่อผาง จากวัดป่าบัลลังก์ศิลาทิพย์ ให้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดนาดูน ซึ่งมีพระอาจารย์มหาสีทน ไปช่วยดูแลอยู่ระยะหนึ่ง หลวงพ่อผาง จึงได้อยู่ที่วัดนาดูน แต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา