หลวงพ่อเงิน รุ่นฟ้าคำรณ วัดบางคลาน พิมพ์เล็ก ปี 2534 และ รุ่นปืนแตก ปี 2528
พระรูปหล่อหลวงพ่อเงิน รุ่นฟ้าคำรณ สุดยอดเนื้อโลหะเก่า หล่อด้วย เนื้อระฆังเก่า และ พระบูชาเทวรูป สมัยต่างๆ ที่ขุดพบใต้ฐานชุกชีพระประธาน ในโบสถ์หลังเก่า สมัยหลวงพ่อเงิน ซึ่งเหลือจากการเทหล่อพระรูปหล่อ รุ่นปืนแตก เมื่อปี 2528 ได้เททองก่อนวันเข้าพรรษา ที่ข้างพระอุโบสถ และ นำพระทั้งหมด ปลุกเสกเดี่ยวโดย หลวงพ่อเชื้อ พระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดัง ตลอดพรรษา ( ไตรมาส 3 เดือน ) หลังจากนั้นจึงนำเข้าพิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2534 ซึ่งมีพระเกจิดังต่อไปนี้ :
หลวงพ่อเชื้อ วัดบางคลานใต้ , หลวงพ่อเปรื่อง วัดบางคลานเหนือ ( ผู้สร้างหลวงพ่อเงิน 15 ) , หลวงพ่อจวน วัดหนองสุ่ม , หลวงพ่อผล วัดดักคะนน , หลวงพ่อโง่น วัดพุทธบาทเขารวก เป็นต้น
ทั้งพิมพ์ใหญ่ และ พิมพ์เล็ก ที่ผ้าสังฆาฎิด้านหน้าจารึกตัว ” อุ ” เป็นสัญลักษณ์ แต่บางองค์หล่ไม่ติดก็มี เพราะหล่แบบกรรมวิธีโบราณ ใต้ฐานองค์พระตอกโค๊ตวงกลมภายในจารึกคำว่า ” เงิน / ๓๔ ” เนื้อพระสีเหลืองอมแดง มีคราบเบ้าเกาะติดแน่นจนเป็นสีดำ ลักษณะเนื้อแบบเดียวกับรุ่นปืนแตก ที่โด่งดังไปทั่ววงการพระเครื่อง เพราะเป็นเนื้อสูตรเดียวกัน พุทธคุณเด่นทาง แคล้วคลาด คงกระพันมหาอุด เป็นที่เลื่องลือมาช้านาน
เหตุการณ์อันมหัศจรรย์
ขณะที่วัดบางคลานใต้ ประกอบพิธี เททองพระหลวงพ่อเงิน ได้เกิดเสียงดังกระหึ่ม ท้องฟ้าซึ่งโปร่งใสปราศจากเค้าเมฆฝน ก็มืดครื้มดำทะมึนอย่างน่าสะพรึงกลัว และแล้ว อสนีบาต ก็ฟาดเปรี้ยงกลางปะรำพิธี เสียงฟ้าคะนองคำรามลั่นไปทั่วอาณาบริเวณ เปรียบเสมือนดวงวิญญาณ หลวงพ่อเงิน บนสรวงสวรรค์ รับรู้บอกกล่าวเป็นนิมิตหมายอันดี และเสมือนท่านร่วมพิธีปลุกเสกไปด้วย
เหตุการณ์ครั้งนั้น ผู้คนนับพันนับหมื่น ต่างวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนาๆ ที่ อสนีบาต และ ฟ้าคำรณ ท่ามกลางปะรำพิธี ทั้งๆที่ไม่มีเค้าเมฆฝนแม้แต่น้อย ชาวบางคลานจึงขนานนามวัตถุมงคล ในพิธีดัวกล่าวนี้ว่า รุ่นฟ้าคำรณ
แต่ก็มีชาวบ้าน เรียก หลวงพ่อเงินรุ่นฟ้าคำรณนี้อีกชื่อหนึ่งว่า รุ่นฟันปลา เพราะมีชาวบ้านเอา พระหลวงพ่อเงิน รุ่นฟ้าคำรณ ใส่เข้าไปในปากปลา แล้วใช้มีดฟัน ครั้งแรกก็ไม่เข้า ครั้งที่สองเพิ่มแรงอีกก็ไม่เข้า ครั้งที่สามเพิ่มแรงอีกก็ไม่เข้าอีก จนพระกระเด็นออกมาจากปากปลา ชาวบ้านเลยเรียกพระรุ่นนี้อีกชื่อว่า รุ่นฟันปลา