พระขุนแผนเจ็ดป่าช้า พระเมตตามหาเสน่ห์ ในตำนานของหลวงพ่อแหยม วัดดอนพุทรา จ.นครปฐม
หลวงพ่อแหยม เริ่มสร้างพระขุนแผนมาตั้งแต่เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2480 เศษๆ โดยมวลสารที่ใช้ ประกอบด้วย เนื้อดินอาถรรพณ์ จากสถานที่ต่างๆ ได้แก่ ดินเจ็ดป่าช้า ดินเจ็ดโป่ง ดินเจ็ดนา ดินเจ็ดไร่ ไคลโบสถ์ ไคลเสมา ดินขุยปู ผงวิเศษตำรับหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ว่านที่มีฤทธิ์ทั้ง 108 อย่าง ผงเถ้าอังคาร และ กระดูกผี ฯลฯ ซึ่งเนื้อหาวรรณะของพระ สามารถแบ่งออกเป็นหลายเนื้อ คือ เนื้อดินเผาจะมีสีน้ำตาล สีแดง จนถึง แดงอมน้ำตาล , เนื้อดินดำผสมผงใบลาน , เนื้อดินดิบที่จะค่อนข้างกร่อน , เนื้อผงใบลาน , เนื้อไม้แกะซึ่งพบเห็นได้น้อยมากในวงการฯ ส่วนพิมพ์ของพระขุนแผนมีทั้งพิมพ์พนมมือปลุกกุมาร , พิมพ์สมาธิปลุกกุมาร , พิมพ์มารวิชัย , พิมพ์ชมตลาด , พิมพ์ทรงพล , พิมพ์ถือดาบ , พิมพ์บ้านกร่าง เป็นต้น มีหลากหลายลักษณะ เช่น เป็นแบบห้าเหลี่ยม แบบมีตัดปีก-ไม่ตัดปีก พิมพ์ทรงไข่ผ่าครึ่ง หลังอูม หลังเรียบ ฯลฯ ด้านหลังขององค์พระส่วนใหญ่จะมีรอยจารเปียกโดยเหล็กจาร หรือ ก้านธูป ซึ่งจะทำให้ดูง่ายว่าเป็นของท่าน แต่ทั้งนี้จะต้องจดจำลายมือของท่านให้ได้อย่างแม่นยำ เพราะพระบางองค์ของท่านถูกสร้างในยุคปลาย ( ประมาณ ปี พ.ศ. 2520-2530 ) จึงทำให้พระมีเนื้อหาวรรณะที่ดูเหมือนใหม่ และ ถูกตีเป็นไม่ทันสร้าง ไม่ทันเสก แบบที่ข้างหลังองค์พระไม่มีจารยันต์ ก็พบเห็นได้บ้างตามสนามพระ หากจดจำพิมพ์ และ เนื้อพระได้ก็ถือว่าโชคดี ซึ่งอักขระเลขยันต์ที่ท่านจารส่วนใหญ่จะประกอบด้วย ยันต์พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ( นะโมพุทธายะ ) , ยันต์หัวใจธาตุ 4 ( นะมะพะทะ ) , ยันต์หัวใจขุนแผน ( สุนะโมโล ) , ยันต์แก้วสามดวง ( มะอะอุ ) , ยันต์นะเทพรัญจวน ) , ยันต์นะทรหด , ยันต์ตัวเลขต่างๆ ฯลฯ
การจารของท่านในแต่ละครั้งนั้นจะไม่เหมือนกัน บางองค์จารตามกำลังวัน บางองค์จารยันต์ทั้งแปดทิศ ตามแต่เจตนารมย์ของท่าน มีเรื่องเล่ากันว่า ” ในการปลุกเสกพระขุนแผนของท่าน ท่านจะปลุกเสกจนกว่า กุมารที่นอนอยู่ใต้ฐานพระขุนแผน สามารถดิ้นส่ายไปส่ายมาได้ จึงจะนำออกมาแจกญาติโยม ” นอกจากนั้น หลวงพ่อแหยมยังได้มอบ พระขุนแผนของท่านส่วนหนึ่งไปแจกแก่เหล่าทหาร และ ตำรวจ ที่ไปร่วมรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งล้วนเกิดอภินิหารเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ไปรบในคราวนั้น สามารถรอดตายกลับมา จนเป็นเรื่องเล่าขานถึงทุกวันนี้ รวมถึงชาวนครปฐมในยุคนั้น ต่างก็รู้กิตติศัพท์พระขุนแผนของท่านเป็นอย่างดีฯ ถึงกับขนานนามเป็นคำขวัญว่า “ขุนแผนอินโดจีนหลวงพ่อเต๋ ขึ้นชื่อเรื่องผู้หญิงแต่ลองยิงดูได้ ส่วนขุนแผนปลุกกุมาร หลวงพ่อแหยม หากคิดจะเจ้าชู้ต้องมีไว้คู่กาย “