ประวัติการสร้างพระเนื้อดินของ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน พระโพธิสัตว์แห่งเมืองสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
หลวงพ่อโหน่ง อินฺทสุวณฺโณ ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ 2408 ตรงกับปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุตรของนายโต และ นางจ้อย นามสกุล โตงาม ท่านมีพี่น้องทั้งหมด 9 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 2
การอุปสมบท
หลวงพ่อโหน่ง ได้อุปสมบทตอนท่านอายุครบ 24 ปี ณ พัทธสีมา วัดสองพี่น้อง ในปี พ.ศ 2432 โดยมี :
พระอาจารย์จันทร์ วัดทุ่งคอก เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์ดิษฐ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอธิกาารสุด เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ภายหลังอุปสมบท ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง โดยได้ศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งฝ่ายคันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติเป็นอันมาก ทั้งยังปฏิญาณว่า ” จะไม่ฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ” โดยหมายเอาพุทธภูมิเป็นที่ตั้ง ตามแนวโพธิสัตวมรรค ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง ได้หนึ่งพรรษาจึงออกเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ พระอาจารย์จันทร์ วัดทุ่งคอก พระอุปัชฌาย์ของท่าน ครานั้น พระอาจารย์จันทร์ มีชื่อเสียง และกิตติศัพท์ด้านวิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมแขนงต่างๆ เป็นอันมาก เมื่อศึกษาพระกรรมฐานจาก พระอาจารย์จันทร์ ได้สองพรรษา พระอาจารย์จันทร์จึงได้นำท่าน ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า ท่านจึงได้อยู่เรียนสมถะวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อเนียม เป็นเวลา 2 พรรษา
ในช่วงที่ท่านกำลังศึกษา สมถะวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อเนียม วัดน้อย ท่านก็ได้รู้จักกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งได้เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อเนียม ด้วยเช่นกัน โดยท่านเป็นศิษย์พี่ของ หลวงพ่อปาน หลวงพ่อเนียมเคยปรารภกับหลวงพ่อปานอยู่เสมอๆว่า ” ถ้าข้า ( หลวงพ่อเนียม ) ตายไปแล้ว หากสงสัยข้อธรรมใดๆ ให้ไปถามท่านโหน่งเขานะ เขาพอจะแทนข้าได้ ”
ภายหลัง เมื่อหลวงพ่อโหน่ง กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้องตามเดิม จากนั้นชาวบ้านได้ทราบกิตติศัพท์ทางด้านสมถะวิปัสสนาธุระ และ จริยวัตรอันงดงามของท่าน จึงได้มานิมนต์ท่านให้มาอยู่จำพรรษา และ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วัดใหม่อัมพวัน ( วัดคลองมะดัน ) ตลอดมา ท่านได้ทำนุบำรุงวัดจนมีความเจริญรุ่งเรือง จนกระทั่งท่านมรณะภาพลงเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ 2477 รวมสิริอายุได้ 69 ปี 45 พรรษา
วัตถุมงคลของ หลวงพ่อโหน่ง อินฺทสุวณฺโณ ที่พบเห็นกันในวงการฯ ส่วนใหญ่นั้นเป็น ” พระเนื้อดินเผา “โดยท่านกำหนดให้สร้างจำนวน 84,000 องค์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ญาติโยมและบรรดาลูกศิษย์ลูกหาได้ช่วยกันสร้างและกดพิมพ์ขึ้นมาจนเกินจำนวน ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนองค์ มีมากมายหลากหลายพิมพ์ ทั้งพิมพ์พระบูชา พิมพ์ล้อพระกรุต่างๆอาทิ พิมพ์ซุ้มกอ พิมพ์ตรีกาย พิมพ์พุทธไสยาสน์ พิมพ์ขุนแผนหน้าค่าย พิมพ์ขุนแผนบ้านกร่าง พิมพ์นางพญา พิมพ์ปรุหนัง พิมพ์ซุ้มปราสาท พิมพ์พระสมเด็จ ฯลฯ ซึ่งการสร้างนั้นต่างคนก็จะกดพิมพ์สร้างไปเรื่อยๆ แล้วรวบรวมเอาไว้ เมื่อได้จำนวนตามต้องการจึงเผา โดยพระอาจารย์ฉวย ได้ก่อเตา และเผา ในขณะเผาองค์พระ หลวงพ่อโหน่ง ก็ประกอบพิธีพุทธาภิเษก โดยอาราธนาพระสงฆ์ในวัดสวดชัยมงคลคาถา ท่านจะเดินวนรอบเตาเผา เพื่ออัญเชิญพระคุณแห่งพระแม่ธรณี อันเป็นจิตวิญญาณ อันบริสุทธิ์ของสหโลกธาตุ เมื่อคราวที่เจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่จะตรัสรู้ เป็นพระศากยมุนีพุทธเจ้า พระองค์ได้ถูกพญามารวรัสวตี มาผจญ พระองค์ก็ทรงพึ่งพระแม่ธรณี องค์นี้ในการขับไล่ พญามาร ให้ออกไป และมีแต่ผู้ที่ปรารถนาพระสัพพัญญุตาญาณเท่านั้น ที่สามารถอัญเชิญจิตวิญญาณ อันบริสุทธิ์ของพระแม่ธรณีได้ ด้วยเหตุนี้ พระเครื่องที่ท่านสร้าง ส่วนใหญ่จึงเป็น เนื้อดินเผา เมื่อเสร็จสิ้นพิธี ท่านได้แบ่งส่วนหนึ่งนำไปบรรจุไว้ที่ปูชนียสถานหลายแห่ง ที่อยู่ในวัดคลองมะดัน ( อัมพวัน ) และวัดทุ่งคอก ส่วนที่เหลือท่านก็แจกจ่ายแก่คณะผู้ศรัทธาทั้งหลาย
วัตถุมงคลของ หลวงพ่อโหน่ง เป็นวัตถุมงคลที่เปี่ยมไปด้วยพลังพุทธคุณ ด้วยเพราะท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ที่สามารถอัญเชิญพระบารมีแห่งองค์พระแม่ธรณีได้ โดยถือคติว่า ” หากสูเจ้าเหยียบย่ำบนเนื้อตัวของเรา ( พระแม่ธรณี ) สูเจ้าจะไม่มีวันอับจน ” เพราะพระองค์จะทรงช่วยเหลือท่าน ในปัจจุบันหาได้อยากนัก ที่จะมีใครอัญเชิญบารมีของพระองค์ได้ อีกทั้งท่านยังเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อเนียม วัดน้อย ปรมจารย์แห่งเมืองสุพรรณบุรี และ ยังเป็นศิษย์พี่ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโคอีกด้วย ที่พระเครื่องของท่านสนนราคาติดลมบนไปนานแล้ว แต่วัตถุมงคลของ หลวงพ่อโหน่งนั้นราคายังไม่ไกลนัก และยังสวยงามด้วยพุทธศิลป์ ความเก่าจัด เพราะสร้างมาร่วมๆ ร้อยปีแล้ว ได้ทั้งพุทธศิลป์ ได้ทั้งความเก่า ได้ทั้งเนื้อจัด แถมยังเป็นพระเครื่องที่ พระโพธิสัตว์เจ้าได้ทำการอธิษฐานจิตปลุกเสกอีกต่างหาก ต่อไปจะหายากมาก