หนุมานไม้แกะ หน้ากระบี่ หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน
หนุมาน หลวงพ่อสุ่น แห่งวัดศาลากุน ขึ้นชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์แรงกล้าเข้มขลัง มาเป็นเวลายาวนาน จัดอยู่ในทำเนียบสุดยอดเครื่องรางระดับเบญจภาคี คู่เคียงมากับเสือ หลวงพ่อปาน จนมีคำกล่างคล้องจองกันว่า “เสือ หลวงพ่อปาน หนุมานหลวงพ่อสุ่น”
หนุมานเป็นทหารเอกของพระราม มีฤทธิ์เดชมาก มีกำลังวังชามหาศาล คล่องแคล่วว่องไว มีมนต์เสน่ห์มหานิยมสูงส่ง เมื่อหลวงพ่อสุ่นจัดสร้างและปลุกเสกด้วยพระเวทย์อาคม จึงยิ่งทรงอานุภาพเข้มขลัง ” มีคุณวิเศษทางป้องกันศาสตราวุธต่างๆ อยู่ยงคงกระพัน อำนวยโชคลาภ ก่อเกิดเมตตมหานิยม ติดต่องานสำเร็จรวดเร็ว ทำกิจการเจริญก้าวหน้ามั่นคง สามารถเอาชนะอุปสรรคนานัปการ ”
หนุมาน หลวงพ่อสุ่น แกะสลักจากไม้และงาช้าง องค์ที่แกะจากไม้เป็นหนุมานยุคแรกๆ ไม้ที่ใช้แกะเป็นรากไม้พุดซ้อนและรากไม้รัก ซึ่งหลวงพ่อสุ่นนำทั้งสองต้นมาปลูกตั้งแต่เพิ่งมาอยู่วัดศาลากุน ท่านเสกน้ำมนต์รดน้ำจนเติบใหญ่ ค่อยนำมาแกะขึ้นรูปเป็นหนุมาน และองค์ที่แกะจากงาช้างมีจำนวนน้อยกว่า
หลวงพ่อสุ่นปลุกเสกหนุมานแจกหลายวาระ แต่ครั้งสำคัญที่มีผู้จำได้ 2 ครั้งคือ ปี 2468 และ ปี 2470 ทั้งสองครั้งประมาณหลักหลายร้อยตัว.
หนุมาน หลวงพ่อสุ่น จุดสังเกตของเก่าแท้
หนุมานแกะสลักขึ้นด้วยมือ รายละเอียดแต่ละองค์จึงไม่เหมือนกัน แต่มีเค้าโครงแบบพิมพ์ที่คล้ายกัน คือ หนุมานนั่งยอง มือกุมเข่าทั้งสองข้าง อ้าปากเห็นลิ้น หางม้วนรอบฐาน ส่วนใหญ่มีขนาดสูงประมาณ 1 นิ้วเศษ งานแกะฝีมือช่างชั้นครู สัดส่วนทรวดทรงสวยงามได้รูป การลงมีดเจาะเฉาะตามซอกลึกมีเหลี่ยมมุมงดงาม ต่างจากของปลอมที่ฝีมือหยาบ สัดส่วนรูปทรงบิดเบี้ยวไม่งาม รอยขูดเกลาผิวมักหยาบไม่เรียบร้อย การเก็บงานในซอกเล็กไม่ประณีตเท่าของแท้.
หนุมาน หลวงพ่อสุ่นมี2พิมพ์หลัก
– พิมพ์หน้าโขน แต่งองค์ด้วยเครื่องทรงรายละเอียดวิจิตรงดงามแบบโขนรามเกียรติ์ รูปแบบหนุมานนั่งยอง มือกุมเข่า อ้าปากเห็นลิ้น หางม้วนรอบฐาน
– พิมพ์กระบี่ ศิลปเรียบง่ายคลาสสิค รอบคอมีกรองศอ หรือ เกราะคอ ด้านหลังมีผ้าห้อยปิดต้นขา รูปแบบหนุมานนั่งยอง มือกุมเข่า อ้าปากเห็นลิ้น หางม้วนรอบฐาน.
นอกจากนี้ยังมีพิมพ์พิเศษ เช่น พิมพ์นั่งพนมมือ พิมพ์ยืนพนมมือ แต่มีจำนวนน้อย
การปลุกเสกหนุมานหลวงพ่อสุ่น
การปลุกเสกหนุมานของหลวงพ่อสุ่นนั้น ท่านรวบรวมหนุมานใส่ไว้ในบาตร นำเข้าไปปลุกเสกในโบสถ์ ปลุกเสกตั้งแต่ค่ำจนย่ำรุ่ง กล่าวกันว่า “ท่านปลุกเสกจนหนุมานกระโดดได้ก่อนจะนำออกแจก”
หนุมานหลวงพ่อสุ่นมีความเก่าถึงปัจจุบันร่วม 100 ปีเข้าไปแล้ว เนื้อไม้ที่แกะเป็นรูปหนุมานจึงแห้งเก่าเป็นพิเศษ ไม่เหลือความชื้นในเนื้อไม้ ตัวหนุมานแห้งเบา อาจมีสีเข้มบริเวณจุดสำผัส
ส่วนองค์ที่แกะจากงานั้น เนื้องาจะแห้งนวลเนียนเป็นธรรมชาติ บริเวณจุดสำผัสเป็นมันฉ่ำ บางตัวอาจมีคราบสีเข้มในซอก และมีรอยแตกเป็นริ้วเล็กๆ เนื่องจากงาแห้งหดรัดตัวปรากฏให้เห็น.