สมเด็จเกศไชโย
” พระสมเด็จเกศไชโย” เป็นพระเนื้อผงที่ได้รับการยอมรับว่า สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หนึ่งในสามพระสมเด็จสามวัด คือ วัดระฆังฯ วัดบางขุนพรหม และวัดไชโย ที่ได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐาน ได้รับความนิยมเช่าบูชาสูงที่สุดในเวลานี้ แหล่งกำเนิดของพระสมเด็จเกศไชโยนั้น พบพระด้านในองค์ “พระมหาพุทธพิมพ์” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี เป็นผู้สร้างไว้ในวัดไชโยวรมหาวิหาร เมืองอ่างทอง วัดนี้เป็นวัดที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างขึ้นบนที่ดินของตาของท่าน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้โยมมารดาและตา โดยนำชื่อของโยมมารดา “เกศ” และชื่อของตา “ชัย” มารวมกันเป็น “เกศไชโย”
ภายในวัดมีพระพุทธรูปประทับนั่งองค์ใหญ่ กล่าวกันว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้สร้างไว้เป็นองค์ประธานของวัด และท่านได้สร้างพระเนื้อผงพิมพ์สมเด็จบรรจุกรุไว้ด้านในองค์พระประธาน เรียกกันว่า “พระสมเด็จเกศไชโย”
ในปี พ.ศ. 2430 มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ การก่อสร้างทำให้พระพุทธรูปสั่นสะเทือนจนเสียหาย ต้องบูรณะขึ้นใหม่ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ให้สร้างขึ้นใหม่จนแล้วเสร็จในปี 2434 พร้อมถวายพระนาม “พระมหาพุทธพิมพ์” และเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดไชโยวรวิหาร ” เป็นพระอารามหลวง นับแต่นั้นมา…
พระสมเด็จเกศไชโย
1 ใน 3 พระสมเด็จของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
“พระสมเด็จเกศไชโย” เป็นพระพิมพ์รูปสี่เหลี่ยม ชิ้นฟัก เนื้อผงปูน ที่สร้างโดย “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)” แห่งวัดระฆังฯ ปัจจุบันได้รับความนิยมสูงมาก นักสะสมพระเครื่องถ้าหากไม่มีพระสมเด็จวัดระฆังฯ และพระสมเด็จบางขุนพรหม ก็จะนำพระสมเด็จเกศไชโยเข้าเป็นองค์ประธานในชุดเบญจภาคีทดแทนกันได้
พระสมเด็จเกศไชโย เป็นพระพิมพ์ที่สร้างบรรจุกรุ
โดยแตกกรุจากด้านในองค์ “พระมหาพุทธพิมพ์” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างไว้ใน วัดไชโยวรมหาวิหาร เมืองอ่างทอง การสร้างพระประธานองค์ใหญ่ไว้ในวัดไชโยฯ ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงโยมมารดาของท่านที่ได้ล่วงลับไปแล้ว เนื่องจากมารดาเคยพา ท่านมาพักอยู่ที่ตำบลไชโยสมัยที่ท่านยังเล็ก ซึ่งตามประวัติแล้วสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้สร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ในชีวิตของท่านไว้ตามสถานที่ต่างๆ ดังมีผู้ร้อยเรียงเป็นถ้อยความว่า:
“ท่านนอนที่อยุธยา (พระนอนวัดสะดือ) พระมหาพุทธพิมพ์ มานั่งที่ไชโย (พระมหาพุทธพิมพ์) โดยที่วัดอินทร์ (หลวงพ่อโตองค์ยืน วัดอินทร์) จำศีลที่วัดระฆังฯ (วัดที่ท่านจำพำนัก จำพรรษาจวบจนมรณภาพ)”
สำหรับศิลปะพิมพ์ทรงของพระสมเด็จเกศไซโย จะเห็นว่า มีความแตกต่างจากพระสมเด็จวัดระฆังฯ และพระสมเด็จบางขุนพรหม อย่างชัดเจน และแม้ว่า แม่พิมพ์ของพระสมเด็จวัดระฆังฯ และพระสมเด็จบางขุนพรหม จะเป็นงานศิลป์ที่สรรค์สร้างโดยฝีมือช่างชั้นครู มีความงดงามละเอียดอ่อน มีความโดดเด่นเป็นพิเศษก็ตาม แต่ศิลปะแม่พิมพ์พระสมเด็จเกศไชโยก็มีความงามล้ำลึกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นกัน.
ศิลปะแม่พิมพ์ของ พระสมเด็จเกศไชโย มีเอกลักษณ์สำคัญ คือ “กรอบกระจก อกร่อง หูบายศรี” อันเป็นเอกลักษณ์ที่ช่างได้บรรจงลงใส่ไว้ในพิมพ์พระแทบทุกพิมพ์ของเกศไซโย
นอกจากนี้ส่วนที่แตกต่างจากพระสมเด็จวัดระฆังฯ และบางขุนพรหม ที่เห็นได้ชัดเจนอีกส่วน ก็คือ “ส่วนฐานที่รองรับองค์พระ” จะเห็นได้ว่า ฐานของพระสมเด็จเกศไชโยมีจำนวนฐานมากถึง 7 ชั้น 6 ชั้น และ 5 ชั้นในพระพิมพ์นิยม การที่ช่างออกแบบให้มีจำนวนฐานมากขึ้นก็น่าจะเป็นเพราะต้องการให้เกิดความสมดุลในโครงสร้างของพิมพ์ เนื่องจากองค์พระ ที่ประทับนั่งสมาธิของพระสมเด็จเกศไชโยทุกพิมพ์จะมีลักษณะของพระอุระหรือหน้าอกเป็นแบบอกร่อง ทำให้องค์พระมีพระวรกายที่เรียวเล็ก จึงต้องออกแบบให้เส้นฐานมีขนาดเรียวเล็กแต่เพิ่มจำนวนชั้นมากขึ้นนั่นเอง.
การสร้างพระสมเด็จเกศไชโย
การสร้าง “พระสมเด็จเกศไชโย”วัดไชโยวรวิหารหรืออีกชื่อหนึ่งที่ปรากฏบน ป้ายชื่อวัดว่า วัดเกษไชโย เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอไซโย จังหวัด อ่างทอง เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ไม่มีประวัติแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่มาปรากฏชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไปเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้มาสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นใน ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประมาณปี พ.ศ. 2400-2405
เหตุที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
มาสร้างพระหลวงพ่อโต หรือพระมหาพุทธพิมพ์ขึ้นไว้ที่วัดแห่งนี้ ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ระลึกถึงโยมมารดาที่ได้ล่วงลับไปแล้ว จากหนังสือ “พระพุทธรูปสำคัญ” ของกรมศิลปากร ระบุว่า การก่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ต้องกระทำอยู่ 2 ครั้งด้วยกัน เนื่องจากในคราวแรกนั้น ให้ช่างจีนมาทำการสอปูนรอบแกนกลางทำเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งที่มีขนาดใหญ่กว่าที่เห็นในปัจจุบันมาก ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง แต่ปรากฏว่าปูนไม่แน่นพอและไม่มีสิ่งโยงยึดก็เลยพังทะลายลงมา ต้องสร้างใหม่เป็นครั้งที่ 2 โดยได้ก่อปูนเหมือนครั้งแรก แต่ลดขนาดให้เล็กลงกว่าเดิมซึ่งก็ยังมีขนาดใหญ่อยู่ การสร้างพระหลวงพ่อโตสำเร็จลงในราวปี 2406-2407 และในครั้งนี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้นำพระพิมพ์สมเด็จเนื้อผงปูนปั้นทรงสี่เหลี่ยมแบบยกขอบกระจก พิมพ์ฐาน 7 ชั้น 6 ชั้น 5 ชั้น ซึ่งก็คือ พระพิมพ์ที่เรียกว่า “พระสมเด็จเกศไซโย” บรรจุไว้ในช่องลับภายในองค์พระพุทธรูปองค์ใหญ่ด้วย
การสร้างพระพิมพ์แต่ครั้งโบราณเพื่อบรรจุกรุเป็นพุทธบูชาและสืบสานพระพุทธศาสนานั้น จะสร้างจำนวน 84,000 องค์ เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ แต่พระพิมพ์ที่บรรจุในองค์พระสันนิษฐานว่า คงมีพระไม่ครบจำนวน เพราะเมื่อได้มีการสำรวจภายหลังพบว่า มีพระสมเด็จพิมพ์ของวัดระฆังฯ นำมาบรรจุร่วมด้วย.
การแตกกรุพระสมเด็จเกศไชโยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสมณฑลอยุธยา เมื่อปีขาล พ.ศ. 2421 และผ่านมาทางวัดไชโยวรวิหาร ทรงทอดพระเนตรเห็นพระหลวงพ่อโตประทับนั่งอยู่กลางแดด เป็นที่น่าปริเวทนาการ จึงได้ทรงรำลึกถึงเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์มาสร้างวิหารครอบองค์หลวงพ่อโต โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยารัตนบดินทร์ (บุญรอด กัลยาณมิตร) เป็นแม่กอง คุมงานสร้างวิหารครอบและปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นในปี พ.ศ. 2430 ระหว่างการก่อสร้างวิหารซึ่งต้องกระทุ้งดินเพื่อปรับฐานรากนั้น แรงกระทุ้งทำให้องค์หลวงพ่อโตแตกร้าวและพังทะลายลงมา เป็นเหตุให้พระสมเด็จเกศไชโยที่บรรจุอยู่ในองค์พระแตกกรุออกมาด้วย ชาวบ้านละแวกวัดได้เก็บพระกลับไปบูชาจำนวนมาก แต่ก็ยังมีพระสมเด็จเกศไชโยเหลือบรรจุอยู่ในองค์พระอีกส่วนหนึ่ง.