เจ้าคุณศรี พฺรหฺมโชติ
หรือพระวิสุทธิสมาจาร วัดอ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี
ชาตะ 28 เมษายน พ.ศ. 2414
มรณภาพ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2510
ฉายา พฺรหฺมโชติ แปลว่า ผู้มีแสงสว่างดังพระพรหม
หลวงปู่ศรี ท่านเป็นพระที่มีศีลจารวัตรเพียบพร้อมด้วยความดีงาม เป็นที่เคารพรักของชาวอ่างศิลาทั่วไปเป็นอย่างมาก ในปฐมวัยท่านได้เรียนวิชากับพระครูสุวรรณาทร ( เที่ยง จนฺทรํสี ) ผู้เป็นลุง ศึกษามูลกัจจายน์ อักษรไทย และ ขอม วัตถุมงคลของท่านมีความเข้มขลัง เพราะว่าท่านสำเร็จวิชากสิณ ซึ่งน้อยคนนักจะเรียนสำเร็จ ได้ช่วยชีวิตคนให้หลุดพ้นจากภยันตราย จากปากหนึ่งสู่ปากหนึ่ง ทำให้เกียรติคุณของท่านแพร่หลายไปเกือบทุกจังหวัด ทำให้วัดต่างๆ มานิมนต์ท่านไปร่วมในพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลเป็นประจำ ท่านเป็นพระรูปหนึ่งซึ่งมีชีวิตยืนยาวถึง 97 ปี 77 พรรษา
ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิสมาจารได้ปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์ และ ครูที่สมบูรณ์มาก เป็นแบบฉบับตลอดจนอายุของท่าน มีกิริยาสุภาพ โอภาปราศรัยไพเราะ มีสติปัญญาเป็นเลีศ แม้นอายุในวัยชรา 90 ปีเศษ ยังสวดพระปฏิโมกข์ในประชุมสงห์ได้ดี ท่านเป็นพระที่นุ่งห่มเรียบร้อย แม้แต่พระหนุ่มก็ยังไม่เรียบร้อย เหมือนท่าน ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ กล่าวได้ว่า ท่านเป็นศรี และ มิ่งขวัญแก่ชาวอ่าวศิลาโดยแท้
วัตถุมงคล ท่านได้สร้างไว้หลายรุ่นหลากแบบ มีทั้งพิมพ์ปิดตาเพชรหลีก รูปหล่อ แหนบ ผ้ายันต์ เหรียญ ฯลฯ ,พระปิดตาเป็นเนื้อผงคลุกรัก ปิดทองสวยงาม ส่วนพิมพ์เพชรหลีกซึ่งสร้าง 1 ครั้ง 2495 มีทั้งหลังยันต์ หลังเรียบ หลังจาร ฝังข้าวเปลือกก็มี , ส่วนด้านหลังพระปิดตาจะเป็นยันต์กระบองไขว้ , เหรียญรุ่นแรกสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2478 หลังยันต์ แบบอาจารย์พูน วัดตาลล้อม อักขระเป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ “นะโมพุทธายะ”
วัดอ่างศิลา อ.เมือง จ. ชลบุรี
วัดอ่างศิลา เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของ จ.ชลบุรี มีเนื้อที่อยู่ 20 ไร่ 2 งาน ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 4 ต. อ่างศิลา อ. เมือง จ.ชลบุรี สังกัดมหานิกาย ถาวรวัตถุมี พระอุโบสถทรงเตี้ย หลังคาลดชั้น ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ แกะสลักด้วยไม้ ลงรักปิดทองหน้าบันใดพระอุโบสถ ทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปเทพนม และ รูปนารายณ์ทรงครุฑ ลงรักปิดทองบานประตู บานหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ บนเพดานโบสถ์เขียนลายดอกจันทน์ จิตกรรมฝาผนังเขียนภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งเรียงเป็นแถว ใบเสมาทำด้วยศิลาแลง และ มีกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถ ด้านหน้ามีพระเจดีย์สามองค์ ทางทิศเหนือมีศาลาการเปรียญสร้างด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้อง บนศาลาการเปรียญมีธรรมาสน์ไม้ ตั้งแต่ยอดถึงฐานแกะสลักลงรักปิดทอง และ ติดกระจก บันใดขึ้นธรรมาสน์ 3 ชั้น แกะเป็นตัวนาคติดกระจกลงรักปิดทอง ทิศตะวันตกมีพระวิหารเก็บพระพุทธรูปโบราณ มีหอระฆัง หอสวดมนต์ หมู่กุฏิสงฆ์ และ สระน้ำ ทางทิศใต้มี เมรุ และ ศาลาบำเพ็ญกุศล 2 หลัง ซึ่งจอมพลผิน ชุณหะวัณ และ บุตรธิดา สร้างอุทิศให้ท่านผู้หญิงวิบูรย์ลักษณ์ ชุณหะวัณ เมื่อ พ.ศ. 2498
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ทางวัดไม่ได้บันทึกหลักฐานไว้เลยว่า ใครเป็นผู้สร้างวัด สร้างใน พ.ศ. ใด และ ใครเป็นสมภารองค์แรกของวัดอ่างศิลา จนภายหลัง ผศ. ดร.พรหมศักดิ์ เจิมสวัสดิ์ อาจารย์สอนภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทญลัย ลาราชการมาอุปสมบท ณ วัดอ่างศิลา จึงได้ทำการสำรวจถาวรวัตถุวัดอ่างศิลา ผลการสำรวจพระอุโบสถ จึงทราบว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สิ่งที่ยืนยันว่า เป็นวัดโบราณยุคกรุงเก่า คือ ลายหน้าบันแกะสลักด้วยไม้ลงรักปิดทองทั้งหน้าทั้งหลัง เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา อีกอย่างหนึ่งที่ระบุเป็นโบสถ์สมัยอยุธยา คือ ใบเสมาสร้างด้วยหินทรายแดง(ศิลาแลง) เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย และ ภาพพระพุทธเจ้าที่ฝาผนังอุโบสถ ก็เป็นฝีมือช่างเขียนสีสมัยอยุธยาตอนปลาย ส่วนพระเจดีย์พระวิหาร หอระฆัง ศาลาการเปรียญ ธรรมสน์ สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยุคต้นทั้งหมด