หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นครสวรรค์ ผู้มากด้วยเมตตา
ประวัติ วัดหนองโพ โดยย่อ
วัดหนองโพเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ วัดนี้ได้ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยพระเถระนามว่า “หลวงปู่รอด” ท่านเป็นพระเถระที่มีวิทยาคมแก่กล้า ทั้งยังเชี่ยวชาญพระกัมมัฏฐานยิ่งนัก ศิษย์ของท่านรูปหนึ่งยังเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล อาจารย์ของหลวงพ่อเดิมด้วย ท่านคือ หลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว วัดนี้เดิมชื่อว่า วัดสมโภชน์โพธิ์กระจาย ในครั้งนั้นมีครอบครัวที่เป็นต้นตระกูลของชาวบ้านหนองโพอยู่ 7 ครอบครัว ครั้นต่อมาครั้งที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะวงฆ์ มณฑลนครสวรรค์ ได้โปรดให้เปลี่ยนนามพระอารามเสียใหม่เป็น “วัดหนองโพ” ซึ่งยังคงใช้ชื่อดั่งกล่าวมาจนกระทั่งปัจจุบัน
สำหรับอุโบสถนั้นสร้างในสมัย ที่หลวงพ่อเดิม ท่านเป็นเจ้าอาวาส ในราวปี พ.ศ 2458 เป็นพระอุโบสถแบบก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา บานประตูจำหลักลายเครือเถางดงาม ที่สำคัญที่บานประตูพระอุโบสถ มีอกเลาแกะเป็นรูปยันต์พุทธซ้อน อันเป็นยันต์ที่ หลวงพ่อเดิม ท่านใช้ประจำ กล่าวกันว่าเป็นฝีมือจำหลักของพระใบฎีกาคล้อย วัดบ้านบน
นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์สำคัญองค์หนึ่ง เป็นพระเจดีย์ทรงเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองโดยสร้างขึ้นแทนต้นโพธิ์เก่าแก่ ที่อยู่คู่มากับ วัดหนองโพ แต่ภายหลังถูกโค่นเสีย
หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ท่านเกิดในปี พ.ศ 2403 วันพุธ แรม 11 ค่ำ เดือน 3 ปีวอก จ.ศ 1222 ตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2403 โยมบิดาชื่อ นายเนียม โยมมารดาชื่อ นางภู่ นามสกุล ภู่มนี เมื่อท่านถือกำเนิดมาเป็นลูกผู้ชายของตระกูล ย่อมเป็นที่ยินดีปรีดาของโยมบิดา-มารดา เป็นอย่างยิ่ง จึงขนานนามท่านว่า “เดิม”
การอุปสมบท
เมื่อท่านมีอายุครบบวชแล้ว โยมบิดา-มารดา ได้สอบถามความสมัครใจของท่านในการอุปสมบท ท่านไม่ขัดข้องเลย โยมบิดา-มารดาจึงจัดเตรียมเครื่องอัฐบริขารการอุปสมบท หลวงพ่อบวชเป็นพระภิกษุ ในพระบวรพุทธศาสนา ท่านได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เมื่อวันอาทิตย์ แรม 13 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง โทศก ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ 2423 โดยมี หลวงพ่อแก้ว วัดอินทราราม ( วัดใน ) เป็นพระอุปัชฌาย์ , หลวงพ่อเงิน ( พระครูพยุหานุสาสน์ ) วัดพระปรางค์เหลือง ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ , หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ต.สระทะเล อ.พยุหะคีรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า “พุทฺธสโร”
เมื่อหลวงพ่อเดิมเรียนปริยัติแล้ว ได้ไปปรึกษาหาความรู้ ทางวิปัสสนากรรมฐาน กับ หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล อันเป็นพระคู่สวดของท่าน ได้รับการถ่ายทอดวิชาการทางวิปัสสนาคาถาอาคม วิชาคชบาล และการปลุกเสกวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง เช่น แหวนหางช้าง แหวนพิรอด ตามที่หลวงพ่อเทศ ถนัดทุกประการ
นอกจากนี้ หลวงพ่อเดิม ยังศึกษาวิทยาคมกับหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง ปรมจารย์ด้านการทำน้ำพระพุทธมนต์ และ วิชาการเหยียบฉ่ารักษาโรค ท่านนี้เมื่อคราวล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ ได้แวะที่ วัดพระปรางค์เหลือง และ โปรดให้รดน้ำพระพุทธมนต์ถวาย ดังมีพระราชหัตถเลขา ปรากฏในจดหมายเหตุประพาสต้น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ 2449 หลวงพ่อเดิมได้เรียนทางวิปัสสนากรรมฐาน และ การเจริญอาโปกสิณ และ ที่แน่นอนคือ “วิชาน้ำมนต์จินดามณีสารพัดนึก” เพราะน้ำมนต์ของ หลวงพ่อเดิม ต่อมาก็คล้ายกับ หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง และ หลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว
หลวงพ่อเดิม ยังได้เดินทางไปเรียน “วิชามีดหมอเทพศาสตรา” กับหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว เพราะต่อมา ท่านชำนาญในเรื่องมีดหมอ และ มีชื่อเสียงมาก พอท่านเรียนสำเร็จ หลวงพ่อขำ ก็มรณภาพลง จึงขาดทายาทสืบต่อไประยะหนึ่ง ต่อมา หลวงพ่อกัน วัดเขาแก้ว จึงตามมาเรียนกับ หลวงพ่อเดิม และกลับไปทำมีดหมอที่วัดเขาแก้ว
ในสมัยสงครามมหาอาเซียนบูรพา ด้วยความหวาดกลัวในภัยสงคราม จึงได้มีประชาชนพากันไปหาหลวงพ่อวันละมากๆ เพื่อมาขอวัตถุมงคลจากท่าน จนสร้างให้ไม่ทัน คนที่มาหาเกรงจะไม่ได้วัตถุมงคล ติดไม้ติดมือไว้คุ้มตัว จึงพากันหาชื้อผ้าขาวบ้าง ผ้าแดงบ้าง แล้วเอาครามไปทาฝาเท้า หลวงพ่อ แล้วยกขาของท่าน เอาฝาเท้ากดลงไปให้รอยเท้าติดบนแผ่นผ้า บางคนก็กดเอาไปรอยเท้าเดียว บางคนก็กดเอาไปทั้งสองรอยเท้า แล้วก็เอาผ้าผืนนั้นไปเป็นผ้าประเจียด สำหรับคุ้มครองป้องกันตัว ดังนั้นฝาเท้าของท่านต้องเปื้อนครามอยู่ตลอดทุกวัน
การมรณภาพ
หลังจากที่ หลวงพ่อเดิม ถูกเชิญให้ไปเป็นประธาน ในงานก่อสร้างโบสถ์ ในวัดอินทราราม ( วัดใน ) ต.พยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ต่อมาท่านก็เริ่มอาพาธ ตั้งแต่ 15 พฤษภาคม พ.ศ 2494 อาการทรุดลงเป็นลำดับมา จนถึงวันอังคาร แรม 2 ค่ำ เดือนเดียวกัน ( วันที่ 22 พฤษภาคม ) อาการก็หนักขึ้น บรรดาศิษยานุศิษย์ และ หลานเหลนต่างพากันมาห้อมล้อมพยาบาล และ ฟังอาการเนืองแน่น ด้วยความเศร้าโศกห่วงใย เล่ากันว่า “ครั้นตกบ่ายวันนั้น หลวงพ่อก็คอยแต่สอบถามว่า ‘เวลาเท่าใดแล้ว ๆ’ ศิษย์ผู้พยาบาล ก็กราบเรียนตอบไป ๆ จนถึงราว 17 . 00 น. หลวงพ่อจึงถามว่า ‘น้ำในสระมีพอกินกันหรือยัง’ ปกติแล้วบ้านหนองโพมักกันดารน้ำ ศิษย์ที่พยาบาลอยู่ ก็เรียนตอบว่า ‘ถ้าฝนไม่ตกภายใน 6-7 วันนี้ ก็น่ากลัวจะถึงอัตคัดน้ำ’ หลวงพ่อก็นิ่งสงบไม่ถามกระไรต่อไปอีก ในทันใดนั้นกลุ่มเมฆก็ตั้งเค้ามา และ ฟ้าคะนอง มิช้าฝนก็ตกห่าใหญ่ น้ำฝนไหลลงสระราวครึ่งค่อนสระ พอฝนขาดเม็ด หลวงพ่อก็สิ้นลมหายใจ เมื่อเวลา 17.45 น. สิริอายุได้ 92 โดยปี สรรวมแต่อุปสมบทมาได้ 71 พรรษาท่านมีอายุกาลถึง 91 ปี จึงถึงแก่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ 2494 สมกับเป็นเทพเจ้าแห่งเมืองนครสวรรค์ ได้รับสมณศักดิ์สำคัญของเมืองนี้ที่ พระครูนิวาสธรรมขันธ์
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเดิม
สำหรับหลวงพ่อเดิม วัตถุมงคลที่ได้ค้นพบมี กรุวัดชอนเดื่อ ( วัดชอนเจริญธรรม ) เป็นพระกรุ ที่ค้นพบที่วัดชอนเดื่อ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มีหลายพิมพ์ด้วยกัน มีทั้ง พิมพ์หลวงพ่อเดิมฐานเตี้ย และ ฐานสูง รูปหล่อหลวงพ่อเดิมชุดนี้ เพิ่งพบเจอเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ 2551 เป็นที่นิยมของเซียนพระละแวก จ.นครสวรรค์ และ เขตใกล้เคียง เปิดกรุครั้งแรกพบพระจำนวน 676 องค์ ยังทราบมาอีกว่า ทหาร และ ตำรวจในพื้นที่ทำการลองของแล้ว โดยสุ่มหยิบพระจากบาตรที่ใส่มาลอง ปรากฏว่ายิงไม่ออกทั้งหมด พอหันปากกระบอกไปที่อื่น กลับยิงออก ( เชื่อ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ )