ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี
ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) หรือนามที่นิยมเรียก “สมเด็จโต” “หลวงปู่โต” หรือ “สมเด็จวัดระฆัง”เป็นพระสงฆ์มหานิกาย เป็นพระมหาเถระรูปสำคัญ ที่ได้รับคว่มนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย ท่านเคยดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ในสมัยรัชกาลที่ 4-5
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) นับเป็นพระเกจิเถราจารย์ ผู้มีปฏิปทาจริยวัตรน่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพนับถือทั่วไป มาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ จนถึงสามัญชน และ นอกจากจริยวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นของท่านแล้ว ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล “พระสมเด็จ” ที่ท่านได้สร้างขึ้น เพื่อเป็นพุทธบูชา ได้ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือ สุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล 1 ใน 5 ของประเทศไทย ด้วยปฏิปทาจริยวัตร และ คุณวิเศษอัศจรรย์ของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่า ท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย และมีผู้นับถือจำนวนมากในปัจจุบั
ชาติภูมิ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 ณ บ้านไก่จ้น ( ท่าหลวง ) อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต ตรงกับวันที่ 18 เมษายน พ.ศ 2331 ที่บ้านท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา
บิดามารดา ของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติ ของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายสำนวน เช่น หนังสือของ พระยาทิพโกษา กล่าว่า มารดา ของท่านชื่อ นางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวเมืองกำแพงเพชร หรือ หนังสือของ พระครูกัลยาณานุกูล ( เฮง อิฏฐาจาโร ) กล่าว่า มารดา ของท่านชื่อเกศ คนท่าอิฐ อ.บางโพ อย่างไรก็ดี มารดาของท่านนั้นเป็นชาวเมืองเหนือ ( คำเรียกในสมัยอยุธยา ) เพราะทุกแหล่งอ้างอิงกล่าวตรงกันว่า มารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือ แต่ได้ลงมาทำมาหากินแถบภาคกลางในช่วงหลัง
สำหรับบิดาของท่านนั้น ไม่ปรากฏแน่ชัด ( บางหนังสืออ้างว่าเป็น ราชวงศ์จักรี ) ข้อสันนิษฐานว่าด้วย บิดาของท่านนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่า ซึ่ชาวบ้านในสมัยนั้นกล่าว และ เชื่อกันโดยทั่วไป
บรรพชา และ อุปสมบท
เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้ว ได้บรรพชาเป็นสามเณร ในพระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ 2343 ต่อมาปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรด และ เมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ 2340 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช ( สุก ญาณสังวร ) เป็นะพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า ” พรหฺมรํสี ” ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระภิกษุโต รับไว้ในพระบรมราชชูปถัมภ์
จริยวัตร
ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงสถาปนาสมณศักดิ์ เพื่อยกย่องในกิตติคุณ และ เกียรติคุณ ของพระภิกษุโต แต่พระภิกษุโต ไม่ยอมรับ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าท่านมีอุปนิสัยไม่ปรารถนายศศักดิ์ หรือ ลาภสักการะใดๆ ทั้งสิ้น อนึ่ง แม้พระภิกษุโตได้ศึกษาพระธรรมวิในแตกฉาน แต่ด้วยอุปนิสัยดังกล่าวข้างต้น ท่านจึงไม่ยอมเข้าแปลหนังสือเพื่อเป็นพระภิกษุชั้นเปรียญเช่นกัน
ต่อมากล่าวกันว่า พระภิกษุโตได้ออกธุดงค์ ไปตามสถานที่ต่างๆ และ ได้สร้างปูชนียสถาน ในที่ต่างๆกันเช่น สร้างพระพุทธไสยาสน์ ไว้ที่วัดสะตือ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา , สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโย จ.อ่างทอง เป็นต้น ซึ่งปูชนียสถานทุกแห่งที่ท่านสร้าง จะมีขนาดใหญ่โต สมกับชื่อของพระภิกษุโตอยู่เสมอ การจะสร้างปูชนียสถานขนาดใหญ่เช่นนี้ล้วนแต่ต้องใช้ทุนทรัพย์ และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้างจึงจะทำได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความศรัทธา และบารมีของพระภิกษุโต ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน ในย่านที่ท่านธุดงค์ผ่านไปอย่างชัดเจน
สมณศักดิ์
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดปราน พระภิกษุโต เป็นอย่างยิ่ง ใน พ.ศ 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์ ถวายพระภิกษุโตเป็นครั้งแรก โดยมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ราชทินนาม “พระธรรมกิติ” และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 25 ปี โดยปกติแล้วพระภิกษุโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด และอีก 2 ปีต่อมา พ.ศ 2397 ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ในราชทินนาม “พระเทพกวี” หลังจากนั้นอีก 10 ปี พ.ศ 2407 จึทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้น สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ในราชทินนาม “สมเด็จพระพุฒาจารย์” มีนามจารึกตามสุพรรณบัฏว่า
“สมเด็จพระพุฒาจารย์ เอนกปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัตินิพัทธุตคุณ สิริสุนทร พรตจาริก อรัญญิกคนฤศร สมณนิกรมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารพระอารามหลวงฯ “
สมณศักดิ์ดังกล่าว นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุด และเป็นชั้นสุดท้าย ที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า “สมเด็จโต” หรือ “สมเด็จวัดระฆัง” ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่าน เรียกท่านว่า “ขรัวโต”
การมรณภาพ
ราวปี พ.ศ 2410 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้าย ที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรหลวงพ่อโต ( พระศรีอริยเมตไตรย ) ที่วัดอินทรวิหาร ( ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน ) ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่สำเร็จโดยขณะนั้น ก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี ( สะดือ )
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) ก็อาพาธด้วยโรคชรา ถึงแก่มรณภาพ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันเสาร์แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆ้งโฆสิตารามได้ 20 ปี.