พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช
พระครูพิศิษฐ์อรรถการ เดิมชื่อ คล้าย สีนิล เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2419 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปี ชวด จ.ศ.1238 ร.ศ. 95 ที่บ้านโคกทือ ต.ช้างกลางกิ่ง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายอินทร์ นางเหนี่ยว สีนิล มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ นางเพ็ง , พ่อท่านคล้าย ลักษณะนิสัย เป็นคนมีมานะอดทน ขยันหมั่นเพียร อยู่ในโอวาทคำสอนของบิดามารดา และครูอาจารย์อย่างเคร่งครัด สุภาพเรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย อ่อนโยน จึงเป็นที่รักของพ่อแม่ ครูอาจารย์ และญาติมิตรเป็นอย่างยิ่ง , ตอนอายุ 15 ปี ท่านเคยประสบอุบัติเหตุในการถางป่าทำไร่ กระดูกปลายเท้าสามนิ้วแตกละเอียด รักษาไม่หาย ด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยว ท่านได้ใช้มีดตัดปลายเท้าออกด้วยตนเอง และใช้ยาพอกจนหายเป็นปกติ ขาของพ่อท่านนั้นเสียข้างหนึ่ง คือ ขาด้านซ้ายขาดตั้งแต่ตาตุ่มลงไป(เสียตั้งแต่สมัยเด็กๆ คือโดนต้นไม้ทับที่บ้านญาติ ที่ จ.กระบี่ ขาเป็นหนองเลยต้องตัดทิ้ง โดยท่านใช้มีดปาดตาลตัดเอง) ท่านต้องใช้กระบอกไม่ไผ่แทน.
พ่อท่านคล้าย ได้บรรพชาเป็นสามเณร ตอนอายุ19ปี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2438 ณ วัดจันดี ต.หลักช้าง บรรพชาโดยพระอธิการจันทร์ เจ้าอาวาสวัดจันดี(ทุ่งปอน) และพ่อท่านคล้ายสามารถท่องพระปาฏิโมกข์จนได้แม่นยำ เมื่ออายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ อุทกุกเขปสีมา หรือศาลาน้ำ ได้รับฉายา จนฺทสุวณฺโณ โดยพระครูกราย คงคสุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดหาดสูง เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วได้การศึกษาเบื้องต้น พระครูพิศิษฐ์อรรถการ(พ่อท่านคล้าย) เริ่มศึกษาเบื้องต้นที่บ้าน โดยบิดาเป็นผู้สอน เรียนวิชาคำนวน และวิชาอักษรโบราณ จนสามารถจนสามารถอ่านออกเขียนชำนาญ ทั้งหนังสือไทย และอักขระขอม และมาศึกษาต่อในสำนักนายขำ ที่วัดทุ่งปอน บ้านโคกทือ จนจบหลักสูตร ต่อมาได้ไปฝึกเล่นหนังตะลุงกับนายทองสาก ประกอบกับพ่อท่านคล้ายมีหน้าตาดี น้ำเสียงไพเราะ จึงมีคนติดใจการเล่นหนังตะลุงของท่านมาก , การศึกษาช่วงที่ท่านบวชเป็นพระสงฆ์นั้น ท่านได้เรียนรู้พระธรรมวินัย ศึกษาภาษาบาลี(มูลกัจจายนะ) ณ สำนักวัดหน้าพระบรมธาตุฯ โดยมีพระครูกาแก้ว(ศรี) เป็นอาจารย์ ต่อมาได้ศึกษาทางวิปัสสนากรรมฐาน ที่สำนักสามพัน อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีอาจารย์หนู เจ้าอาวาสเป็นผู้สอน จนได้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูพิศิษฐ์อรรถการ(พ่อท่านคล้าย)
ในปี พ.ศ.2498 ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูชั้นพิเศษในนามสมณศักดิ์เดิม แต่บรรดาลูกศิษย์ และประชาชนทั่วไป เรียกท่านตามชื่อเดิมว่า พ่อท่านคล้าย :
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดสวนขัน ต.ละอาย อ.ฉวาง ใน พ.ศ. 2445 (จนมรณภาพ)
เป็นเจ้าอาวาส วัดธาตุน้อย ใน พ.ศ. 2500 เนื่องจากมีการสร้างถนนผ่านกลางวัดจันดี หรือวัดทุ่งปอน ทำให้วัดถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ชาวบ้านและบรรดาลูกศิษย์ ได้ประชุมกันสร้างวัดใหม่ ในเนื้อที่ที่แแยกออกไป เรียกว่า พระธาตุน้อย และแต่งตั้งให้พระครูพิศิษฐ์อรรถการ(พ่อท่านคล้าย) เป็นเจ้าอาวาส.
ศิษยานุศิษย์ และประชาชนที่เคารพนับถือ ศรัทธาพ่อท่านคล้าย ได้เชื่อถือถึงวาจาสิทธิ์ พูดอย่างไรเป็นอย่างนั้น , พ่อท่านคล้ายจะพูดจากับทุกคนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์เย็นอยู่ตลอดเวลา ท่านมักจะให้พรกับทุกคนด้วย “ขอให้เป็นสุข เป็นสุข” ผู้คนที่เคารพนับถือท่าน ต่างพากันกลัวคำตำหนิ เพราะผู้ที่ถูกตำหนิทุกราย ล้วนแต่พบความวิบัติ คนส่วนมากจึงหวังที่จะได้รับคำอวยพร เพราะคำเหล่านั้นเป็นการพยากรณ์ที่แม่นยำ ทั้งในทางดี และทางเสื่อมเสีย บรรดาคนที่ไปมนัสการหวังที่จะได้วัตถุมงคล บ้างขอน้ำมนต์ ชานหมาก แหวน ผ้ายันต์ เหรียญ รูปหล่อ รูปพิมพ์ ซึ่งพ่อท่านคล้าย ก็ได้มีเมตตาให้กับทุกคน ยิ่งชานหมากของท่าน หากใครได้รับจากมือท่าน เป็นต้องหวงแหนอย่างที่สุด.
ปาฏิหาริย์ วัตถุมงคล พ่อท่านคล้าย
เมื่อถามถึงเหตุการณ์เฉียดตาย นายเอกชัย เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2450 ระหว่างทางขับรถออกไปตลาด เกิดอุบัติเหตุรถชน ใบหน้ายุบไป 3 เซนติเมตร อาการสาหัสเป็นตายเท่ากัน ทั้งพ่อแม่พี่น้องทำใจไว้ล่วงหน้า โดยลงความเห็นว่าตายแน่นอน ในที่สุดก็รอดเงื้อมมือมัจจุราชมาได้ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่า คนเราถ้ายังไม่ถึงที่ตาย ทำอย่างไรก็ไม่ตาย หากดวงถึงคาด แขวนพระกี่องค์ก็ไม่รอดอยู่ดี , ในวันนั้นแขวนพระของพ่อท่านคล้าย เพียงองค์เดียวเท่านั้น จากนั้นก็แขวนมาตลอด.
ในฐานะที่เป็นผู้ประสบเหตุการณ์ นายเอกชัยพูดถึงเรื่องไสยศาสตร์ ไว้อย่างน่าคิดว่า ไสยศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยคติความเชื่อ เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เวทมนต์ คาถา สิ่งเร้นลับ หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ , ไสยศาสตร์ ยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจพิสูตรได้ แน่นอนว่ามีผลจริงหรือไม่ การหวังพึ่งไสยศาสตร์ นั้น มีข้อจำกัดอยู่มาก และที่สำคัญ คือ ไม่อาจนำไปสู่การพ้นทุกข์ได้ เพราะที่สุดของไสยศาสตร์ อาจแสดงฤทธิ์ต่างๆได้ ก็เป็นเพียงขั้นโลกียอภิญญา ยังเกี่ยวข้องอยู่กับโลก อยู่ในวิสัยของปุถุชน แม้ที่สุดการแสดงฤทธิ์ต่างๆ ก็เป็นเพียงโลกียวิญญาณ ยังอยู่ในวิสัยของปุถุชน ไม่ทำให้พ้นทุกข์ได้ บางครั้งก็เป็นเรื่องจริง บางครั้งก็เป็นเรื่องเท็จ แต่คนไปเชื่อและยึดติกับเรื่องเท็จ มากกว่าเรื่องจริง จึงตกเป็นเหยื่อของไสยศาสตร์ ซึ่งทุกวันนี้มีคนจำนวนมากแสวงหาผลประโยชน์ โดยใช้ไสยศาสตร์ จึงเป็นสิ่งที่ควรใช้วิจารณญาณ…
การมรณภาพ
พ่อท่านคล้าย ได้บำเพ็ญประโยชน์มาเป็นเวลานานหลายสิบปี ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 พ่อท่านเกิดอาพาธกะทันหัน จึงได้นำตัวของท่านไปทำการรักษาที่โรงพยาบาลพระมหามงกุฎเกล้า หมอได้พยายามรักษาจนสุดความสามารถเป็นเวลา 14 วัน อาการมีแต่ทรงกับทรุด ครั้นถึงวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2513 เวลา 23 : 05 น. พ่อท่านคล้ายได้มรณภาพลงอย่างสงบ พร้อมหน้าหมอ และศิษยานุศิษย์ที่อยู่พร้อมหน้ากัน ณ ที่นั้นศิริชนมายุพ่อท่านคล้าย ได้ 8 รอบ ซึ่งหย่อนอยู่ไม่กี่พรรษาก็จะครบ 96 ปีบริบูรณ์ , ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุมา 74 พรรษา ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนขันได้ 65 ปี ปัจจุบันนี้ศพพ่อท่านคล้ายได้ถูกบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์น้อย ยังไม่ได้มีผู้ใดริเริ่ม การขอพระราชทานเพลิงศพ ทุกวันนี้ยังคงมีประชาชนเดินทางมาสักการะศพของท่านอยู่ไม่ได้ขาด.