ประวัติ หลวงพ่อปาน สุนันโท
พระครูวิหารกิจจานุการ( ปาน สุนันโท ) เป็นชาวบ้านย่านวัดบางนนมโค กำเนิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ 2418 โยมบิดาชื่อ อาจ โยมมารดา ชื่อ อิ่ม นามสกุล สุทธาวงศ์ เป็นบุตรคนเล็ก ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา
สาเหตุที่โยมบิดาตั้งชื่อท่านว่า ปาน เนื่องจากที่นิ้วก้อยมือช้ายของท่านเป็น ปานแดง ตั้งแต่โคนนิ้วถึงปลายนิ้วชึ่งแปลกและไม่ค่อยปรากฏมีกันนัก
พอมีอายุครบ 20 ปี ได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ 2438 โดยมีหลวงพ่อ สุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ , พระอาจารย์ จ้อย วัดบ้านแพน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ อุ่น วัดสุธาโภชน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า สุนันโท
เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้จำพรรษาที่วัดบางปลาหมอเพื่อปรนนิบัติพระอุปปัชฌาย์ ศึกษาอักขระสมัยและพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
หลวงพ่อปาน ศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ จากพระอาจารย์หลายท่าน ดังนี้
1. ศึกษาและสืบทอดด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน พุทธาคม รวมทั้งวิชาแพทย์แผนโบราณจาก หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ
2.ศึกษาพระปริยัติธรรมและภาษาบาลีจาก พระอาจารย์จีน วัดเจ้าเจ็ด เป็นเวลา 2 ปี
3.ศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมที่ สำนักวัดสระเกศ กรุงเทพฯ เป็นเวลา 5 ปี
4.ศึกษาพระปริยัติธรรมและแพทย์แผนโบราณเพิ่มเติมที่ สำนักวัดสังเวชฯ กรุงเทพฯ
5.ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานเพิ่มเติมจาก หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเวลา 3 เดือน
6.ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานเพิ่มเติมจาก หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเวลา 1 เดือน
7.เรียนวิชาเป่ายันต์เกราะเพชรจากอาจารย์แจง ฆราวาสชาวสวรรคโลก
หลวงพ่อปาน เป็นพระที่มีศีลาจารวัตรน่าเคารพเลื่อมใส ผิวพรรณขาวละเอียด เสียงกังวานไพเราะ ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มีความเมตตาปรานีแก่สัตว์โลกทั้งหลายไม่ถือชั้นวรรณะ ในเวลาต่อมา ท่านได้ตั้งสำนักสอนภาษาบาลีและนักธรรมที่วัดบางนมโคและได้เริ่มก่อสร้างวัดบางนมโคจนมีความเจริญรุ่งเรืองมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านได้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดไว้ 41 วัด และสร้างพระอุโบสถอีกมากมายหลายแห่ง นับว่าท่านเป็นพระที่มีบารมีสูงมาก จึงสามารถสร้างถาวรวัตถุสืบพระสศาสนาไว้มากขนาดนี้
ยันต์เกราะเพชร
หลวงพ่อปานเรียนวิชาเป่ายันต์เกราะเพชร จาก อาจารย์แจง ฆราวาสชาวสวรรคโลก ที่เล่าเรียนจากตำราของอาจารย์พระร่วง มาจากการเขียนบทพระพุทธคุณห้องต้น คือ อิติปิโสภควา…จนถึง…พุทโธภควาติ มีรูปแบบ พระคาถา ดังนี้:
อิระชาคะตะระสา
ติหังจะโตโรถินัง
ปิสัมระโลปุสัตพุท
โสมานะกะริถาโธ
ภะสัมสัมวิสะเทภะคะพุทปันทูทัมวะคะ
วาโธโนอะมะมะวา
อะวิสุนุสานุสะติ
พระคาถาบทนี้ มีอุปเท่ห์การใช้แต่ละบทอย่างพิสดาร ทั้งแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ป้องกันอันตราย เรียกว่า ฝอยท่วมหลังช้าง
พระคาถาพระปัจเจกะโพธิสัตว์
พระคาถาบทนี้หลวงพ่อปานเรียนมาจาก ครูผึ้ง ชาวจังหวัดพระนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ 2472 ครั้งที่ท่านและคณะเดินทางลงใต้จะไปปีนังได้แวะพำนักที่เมืองนครศรีธรรมราช ได้พบผู้เฒ่าสูงอายุท่านหนึ่งชื่อ ผึ้ง อายุ 99 ปี ได้มอบพระคาถาบทนี้เพื่อให้หลวงพ่อทำการสั่งสอนและเผยแพร่ออกไป ดังนี้:
ว่า นะโม 3 จบ แล้วสวดพระคาถาบทนำ 1 จบ ว่า พุทธะ มะอะอุนะโมพุทธายะ
แล้วสวดพระคาถา พระปัจเจกะโพธิสัตว์ 3 จบ 5 จบ 7 หรือ 9 จบ ก็ได้ ดังนี้:
วิะทะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี วิระทาสา วิระอิตถิโย พุทธัสสะ มะณีมานะ พุทธัสสะ สวาโหม
พระคาถาบทนี้ นอกจากจะให้ผลในเรื่องความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย เงินทองเหลือใช้สอย ของที่ต้องการก็เพิ่มประริมาณขื้น ของที่ต้องการก็เพิ่มน้ำหนักขื้น ของกินของใช้ก็ไม่เปลืองเมื่อได้ภาวนาเรื่อยไปจนได้สมาธิสูงจนกระทั่งภาวนาประจำจนทำเป็นกัมมัฏฐานไปเลยยิ่งดี
หลวงพ่อปานสร้างพระ
ในปี พ.ศ 2446 หลวงพ่อปานดำริปรับปรุงเสนาสนะในวัดบางนมโคให้ดีขื้น แต่ขาดปัจจัยอยู่มาก เมื่อครุ่นคิดหาวิธีที่ดีไม่ได้ จึงหันหน้าเข้าหาการทำวิปัสสนากัมมัฏฐานในสถานที่วิเวกบริเวณป่าช้าท้ายวัดบางนมโค
ขณะที่ท่านเจริญภาวนาอยู่นั้นเอง ชีปะขาว ก็ปรากฏกายขื้นเบื้องหน้าท่าน บอกให้ท่านต้องสร้างพระ จึงจะสามารถหาทุนมาทำงานได้
ชีปะขาว ได้ชี้แนะให้สร้างพระในรูปจำลอง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับบนบัลลังก์เหนือสัตว์พาหนะต่างๆ โดยจะมานิมิต ให้เห็นวันละหนึ่งตัวพร้อมพระคาถา
ในคืนแรก ชีปะขาวได้บันดารให้เกิดลมพายุพัดอื้ออึง แล้วปรากฏร่างของ หนุมาน ลอยลงมาหยุดตรงหน้าท่านแล้วยืนนิ่งอยู่ บนศีรษะหนุมานมีหัวใจพระคาถากำกับอยู่ ท่านก็จดจำเอาไว้ ชีปะขาวถามว่าจำได้หรือไม่ ท่านก็บอกว่าจำได้ หนุมานก็หายไป
คืนที่ 2 : ก็มีลมพายุแบบคืนแรก แล้วมี ไก่ บินมาตรงหน้าท่านพร้อมพระคาถาบนหัวไก่ ท่านจึงท่องจำไว้ ไก่ก็หายไป
คืนที่ 3 : มี ครุฑ ปรากฏขื้นพร้อมพระคาถา
คืนที่ 4 : มี เม่น ปรากฏขื้นพร้อมพระคาถา
คืนที่ 5 : มี นกกระจาบ ปรากฏขื้นพร้อมพระคาถา
คืนที่ 6 : มี ปลาเสือ ปรากฏขื้นพร้อมพระคาถา
เมื่อจดจำพระคาถาได้ขื้นใจ ชีปะขาวจึงว่า พระนี้ต้องปลุกเสกนาน 3 ปี จึงจะมีอิทธิฤทธิ์ขื้นมา ถ้าปลุกเสกครบไตรมาสก็จะป้องกันอันตรายได้
แม้ท่านได้รับการแนะนำจาก ชีปะขาวแล้ว ก็มิได้สร้างพระในทันทีคงรอเวลาอยู่จนถึงปี พ.ศ 2450 เมื่อท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาการปลุกเสกพระจาก พระอาจารย์ แจง ฆราวาส จึงตัดสินใจสร้างพระขื้นมาครั้งแรก
พระเครื่องหลวงพ่อปานที่จัดสร้างขื้นในยุคแรกๆ นิยมเรียกกันว่า พระพิมพ์โบราณ แต่ไม่ได้รับความนิยมนัก เพราะรูปแบบพิมพ์ทรงแกะโดยฝีมือชาวบ้าน จึงขาดความงดงามไปบ้าง
ยุคต่อมา หลวงพ่อปานได้จัดสร้างขื้นใหม่ มีรูปแบบพิมพ์ทรงสวยงามและมีมากมายหลายพิมพ์ ได้รับความนิยมเป็นมาตรฐาน 6 พิมพ์หลัก ด้วยกันดังนี้:
1. พิมพ์ทรง ไก่
2.พิมพ์ทรง หนุมาน
3.พิมพ์ทรง ครุฑ
4.พิมพ์ทรง เม่น
5.พิมพ์ทรง ปลา
6.พิมพ์ทรง นก
ในแต่ละพิมพ์ ยังจำแนกแยกย่อยออกเป็นแม่พิมพ์ต่างๆ อีกหลายแบบดังที่จะแนะนำในลำดับต่อไป
พระครูวิหารกิจจานุการ( ปาน สุนันโท ) มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันแรม 14 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ 2481 รวมสิริอายุได้ 63 ปี.