ประวัติ หลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว จ.สุพรรณบุรี
หลวงพ่อขอม นามเดิมท่านชื่อ เป้า แต่เพื่อนๆเรียกท่านว่า ขอม เมื่อท่านก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสร์แล้ว พระขอม หรือ อนิโชภิกษุ ได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดบางสาม ท่านได้ตั้งหน้าศึกษาพระธรรมวินัย ด้วยความเอาใจใส่อย่างยิ่ง และปฏิบัติตนในศีลาจารวัตร เป็นอย่างดีอยู่หลายปี จนกระทั่งได้มี สำนักสงฆ์สร้างขึ้นใหม่แห่งหนึ่ง มีชื่อเรียกตามชาวบ้านว่า ” วัดไผ่โรงวัว ” ด้วยเหตุที่นี่ไม่มีสมภารเจ้าวัด บรรดาชาวบ้านย่านนั้น ซึ่งจับตาดู พระขอม มาตั้งแต่ต้น ลงความเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้ที่สมควรได้รับตำแหน่ง สมภารวัดใหม่นี้ ไม่มีท่านใดเหมาะสมเท่า พระขอม เมื่อลงความเห็นดังนี้ ต่างก็พากันไปนิมนต์ พระขอม ให้ไปจำพรรษาอยู่ที่ วัดไผ่โรงวัว พระขอม ซึ่งเคยเป็นที่คุ้นเคยกับ พุทธบริษัทที่นั่น มิอาจขัดศรัทธา จึงย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดนั่นเป็นเวลา 2 ปี แต่วัดไผ่โรงวัวแห่งนี้ ก็ขาดสถานศึกษาเล่าเรียนทางด้านพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวัดพึ่งสร้างใหม่ เรื่องนี้ทำให้ พระขอม พิจารณาตนเอง และเห็นว่าอันธรรมวินัยของพระศาสดานั้น ท่านยังเข้าไม่ถึงพอที่จะเป็น สมภารเจ้าวัดได้ หากผู้ศรัทธา ยังประสงค์จะให้ท่านเป็นผู้นำของวัดนี้อยู่ ท่านก็จำต้องเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม
ดังนั้น พระขอม จึงขอย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งอยูในตัวเมืองสุพรรณบุรี แล้วไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่ วัดประตูสาร ใกล้ๆกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่ท่านจำพรรษาอยู่นั่นเอง การศึกษาพระปริยัติธรรมของ พระขอม ดำเนินไป 3 ปี ท่านก็สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก อันเป็นความรู้ชั้นเถรภูมิ คราวนี้ท่านกลับมาสู่ วัดไผ่โรงวัว อีกครั้งหนึ่ง อย่างสมภาคภูมิ กลับมาอย่างผู้พร้อมที่จะบริหาร ภารกิจให้พระศาสนาอย่างเต็มที่
วัดไผ่โรงวัวเป็นวัดใหม่ จึงยังไม่ถึงพร้อมทุกๆด้าน คือไม่มัอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย กุฏิที่อยู่จำพรรษาของพระภิกษุสามเณร ก็เป็นกระต๊อบมุงจากเก่าๆ มีอยู่เพียง 2 หลัง ศาลาการเปรียญที่เป็นที่บำเพ็ญกุศลของทายกทายิกา เป็นเพียงเรือนไม้ไผ่หลังคามุงจาก อาศัยพื้นดินเป็นพื้นของศาลา น่าอนาถใจยิ่ง
ภาระของพระขอม คือต้องปรับปรุงศาสนสถานแห่งนี้ให้น่าพักพิงสมกับเป็นวัด เพื่อจะได้เป็นหนทางนำไปซึ่งการปรับปรุงจิตใจของชาวบ้านผู้ศรัทธา และเนื่องจากบรรดาชาวบ้านต่างมีศรัทธา พระขอม เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว งานปรับปรุงก่อสร้างขั้นแรกจึงผ่านไปได้ไม่ยาก เริ่มด้วยการถมดิน ไม่ให้น้ำท่วมวัดได้ เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นที่ลุ่มมาก ถึงฤดูฝนคราใดน้ำท่วมทุกปี และท่วมมากขนาดเรือยนต์เรือแจวแล่นถึงกุฏิได้ เมื่อถมดินเสร็จ ท่านได้จัดการขุดสระน้ำ สำหรับเป็นที่สรงน้ำ และน้ำดื่มของพระภิกษุสามเณร และเพื่อชาวบ้านทั้งหลายจะได้อาศัยใช้-กินโดยทั่วไป แล้วซ่อมกุฏิที่ชำรุดทรุดโทรม สร้างศาลาการเปรียญ สร้างโบสถ์ จัดสรรให้เหมาะสมเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม สมกับคำว่า ” วัด ” ทำให้ศรัทธาของชาวบ้านยิ่งเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่ พระขอม ได้บวชเป็นพระสงฆ์ ท่านมีความตั้งใจมั่น ดังที่เรียกว่า มโนปณิธาน เรื่องนี้ท่านกล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่า :
” อาตมาได้ฟังพระท่านเทศน์ว่า บุคคลผู้ใดเลื่อมใส ได้สร้าง พระพุทธรูป จะเล็กเท่าต้นคาก็ได้ โตกว่าต้นคาก็ดี ผู้นั้นจะได้เป็นพรหมเป็นอินทร์ หมื่นชาติแสนชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หมื่นชาติแสนชาติ ผู้นั้นจะไม่เป็นผู้ตกต่ำเลย จนตราบเท่าเข้าสู่พระนิบพาน ถ้าผู้ใดสร้าง พระพุทธรูป ด้วยทองคำ ผู้นั้นจะได้เกิดเป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า….”
ด้วยมโนปณิธานนี้เอง ทำให้ หลวงพ่อขอม คิดเริ่มสร้าง พระพุทธโคดม ด้วยทองสัมฤทธิ์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปี พ.ศ 2500 หลวงพ่อขอมเริ่มบอกบุญแก่ญาติโยม ใช้เวลา 2 ปี กว่าจะเริ่มสร้างได้ เนื่องจากเป็นงานใหญ่มาก ถึงต้องใช้เวลาสร้างทั้งหมด 12 ปี จึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ 2512
หลังจากนั้น ท่านก็เริ่มสร้าง สิ่งก่อสร้างอีกหลายอย่าง เช่น สังเวชนียสถาน 4 ตำบล แดนสวรรค์ แดนนรก เมืองกบิลพัสดุ์ และอีกหลายๆอย่างด้วยกัน ดังที่พบเห็นกันทุกวันนี้ มีลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดเคยถาม หลวงพ่อขอมว่า จะสร้างสิ่งก่อสร้างไว้มากมายเพื่ออะไร ท่านตอบว่า ” อาตมาสร้างไว้เพื่อให้ผู้ศรัทธา และอนุชนรุ่นหลัง ได้ศึกษาเรื่องราวของพุทธประวัติ ” นอกจากงานก่อสร้างแล้ว หลวงพ่อขอม ท่านยังเป็นนักเขียน นักแต่ง ที่มีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าด้านงานก่อสร้าง ผลงานของท่านปรากฏอยู่หลายเรื่อง เฉพาะที่จัดพิมพ์แจกเป็นธรรมทานไปแล้วก็มีเรื่อง ธรรมทูตเถื่อน พุทธไกรฤกษ์ สมถะ และ วิปัสสนา
การมรณะภาพ
หลวงพ่อขอมมรณะภาพในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ 2533 เวลา 16 . 55 น. ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว รวมสิริอายุ 88 ปี พรรษา 68 ก่อนที่หลวงพ่อขอมจะมรณะภาพ ท่านเคยมีคำปฏิญานไว้ 5 ข้อคือ :
1. ชีวิตของเราที่เหลือ ขอช่วยพระพุทธองค์ไปจนตาย
2. เมื่อมีชีวิตอยู่ ถ้าเรามีเงินส่วนตัวสัก 1 บาท เราจะอายพุทธบริษัทเป็นอย่างยิ่ง
3. เราจะให้รูปพระองค์เกลื่อนไปในพื้นธรณี
4. โอ…โลกนี้ไม่ใช่ของเรา
5. เราต้องตาย ตายใต้ผ้าเหลืองของเรา
พระเครื่องหลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว ท่านสร้างเมื่อตอนยังมีชีวิต
พระหลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ” สิบล้านองค์ ” เป็นจำนวนตัวเลขความตั้งใจในการจัดสร้าง พระเครื่องและวัตถุมงคล ของ ” พระครูอุภัยภาดาธร ” หรือที่รู้จักกันดีในนาม ” หลวงพ่อขอม ” อดีตเจ้าอาวาส วัดไผ่โรงวัว ต.บางตาเถร อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นที่ประดิษฐาน ” พระพุทธโคดม ” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อโลหะ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดหน้าตักกว้าง 10 เมตร สูง 26 เมตร ภายในบริเวณวัด มีสิ่งก่อสร้างเกี่ยวกับพุทธศาสนา เช่น วังสามฤดู ของเจ้าชายสิทธัตถะ สถานที่แสดงปฐมเทศนา ตรัสรู้ และปรินิพพาน เมืองนรก เป็นต้น
หลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว ท่านมักได้รับนิมนต์ไปร่วมพิธีอธิษฐานปลุกเสก ในงานพุทธาภิเษกตามวัดต่างๆ จนนับครั้งไม่ถ้วน ยิ่งงานใหญ่ๆ ต้องมีท่านด้วยเสมอ ขณะไปร่วมพิธีปลุกเสกสร้างพระให้วัดอื่นๆ ท่านมีปณิธานว่า จะสร้างพระจำนวนโกฏิ ( สิบล้านองค์ ) โดยเริ่มสร้างตั้งแต่ ปี พ.ศ 2573 จนถึง ปี พ.ศ 2500 จำนวนการสร้างไม่แน่ชัด ทราบเพียงแต่ว่า ท่านก็ยังสร้างอีกเรื่อยมา มีจำนวนหลายร้อยตุ่ม ถึงแม้จะสร้างมาก แต่พระของท่านก็มีประสบการณ์ดีเยี่ยมเช่นกัน เคยมีคนนำไปลองยิงแล้วมีผลเป็นมหาอุดด้วย
พระเครื่องและวัตถุมงคล หลวงพ่อขอม สร้างไว้นั้น มีมากมายหลายแบบ หลายพิมพ์ มีเพียง 4 รุ่น หรือ 4 พิมพ์เท่านั้น ที่ได้รับความนิยม คือ :
1. เหรียญทรงรูปไข่ หลวงพ่อขอมรุ่นแรก ( บล็อกตาแตก )
2. เหรียญทรงรูปไข่ รุ่นสอง ( บล็อกหน้าหนุ่ม )
3. รูปเหมือนหล่อ รุ่นแรก ได้รับความนิยมทั้งพิมพ์ใหญ่ – พิมพ์เล็ก
4. พระกำแพงศอก ชึ่งมีทั้งหมด 7 พิมพ์