ประวัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุธาวาส จ.สกลนคร
สมัยที่ยังเป็นเด็ก อาจจะเพราะเป็นบุตรคนแรก แต่มีรูปร่างเล็ก ทำให้เกิดการปรับตัวตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆที่ตัวเล็กให้ต้องเคลื่อนไหวว่องไวเป็นนิสัย และก็ทำให้เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด มาตั้งแต่ยังไร้เดียงสา เด็กชายมั่น หรือ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้นำกองทัพธรรมแห่งภาคอิสาน ถือกำเนิดนามสกุล ” แก่นแก้ว ” โยมบิดาชื่อ นายคำด้วง โยมมารดาชื่อ นางจันทร์ เป็นชาวบ้านคำบง ต.โขงเจียม จ. อุบลราชธานี เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะเมีย วันที่ 20 มกราคม พ.ศ 2413 ครอบครัวของท่านค่อนข้างใหญ่ มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันถึง 9 คน ออกบรรพชาเป็นสามเณร ณ สำนักวัดบ้านคำบง สามเณรมั่น ตั้งใจเรียนเป็นอย่างดี และรวดเร็ว ท่านมีความกระตือรือล้นฝักไฝ่ในการเรียนรู้ โดยเฉพาะเกี่ยวกันธรรมะ ความประพฤติเรียบร้อย อัธยาศัยดีงาม สูตรต่างๆที่ครูบาอาจารย์สำนักวัดบ้านคำบงให้มา สามเณรมั่นผ่านได้ ไม่เป็นที่หนักใจ ดูเหมือนได้รับการอนุเคราะห์ จากคณาจารย์ทุกท่าน เสียแต่ว่าท่านบวชได้แค่ 2 ปี ก็ต้องลาสิกขาบทตามคำร้องขอ ของโยมบิดา เพื่อช่วยเหลือในงานบ้าน
แต่คนที่มีความมุ่งมั่นแรงกล้าอย่าง สามเณรมั่น แม้จะต้องลาสิกขาบท ท่านก็ยังมุ่งหวังว่าจะได้กลับคืนมาห่มผ้าเหลืองอีกสักวันหนึ่งข้างหน้า พออายุได้ 22 ปี ความอยากจะบวชก็กำเริบขึ้นในใจอีก มันเป็นความรู้สึกแบบเดียวกันกับ ความรู้สึกที่เคยเกิดขึ้ตอนอายุ 17 ปี ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงนำความในใจไปปรึกษา โยมบิดามารดา และ ทั้งสองก็คิดเห็นสอดคล้องกันว่า บุตรคนแรกของท่านคงจะเป็นอะไรอย่างอื่นไม่ได้ เนื่องจากฝักไฝ่อยู่แต่ในเพศพรหมจรรย์ค่อนข้างรุนแรง ดังนั้น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ 2436 หลังจาก โยมบิดามารดาได้ตระเตรียม ” อัฐบริขาร ” ท่านจึงได้รับอนุญาตเข้าสู่ การอุปสมบทโดยมี
พระอาจารย์อริยกวี เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูสีทา เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูประจักษ์อุบลคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระอุปัชฌาย์ ให้สมณฉายาท่านว่า “ภูริทัตโต”
หลังจากอุปสมบท ท่านก็มาจำพรรษา ณ วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี เพื่อเรียนวิปัสสนากรรมฐาน กับท่านพระอาจารย์เสาร์กนตสีโล
ช่วงระยะเวลาที่อยู่จำพรรษา ณ วัดเลียบ เมืองอุบล บางครั้ง ท่านก็ออกไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดบูรพาราม เมืองอุบล ขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาข้อต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเบื้องต้นไปด้วย ข้อปฏิบัติตามพระวินัยดังกล่าวก็คือ อาจาระ ความประพฤติ มารยาท อาจาริยวัตร และ อุปัชฌายวัตต์ การฝึกปฏิบัติของท่านเป็นไปอย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ เป็นที่ไว้วางใจของ พระอุปัชฌาย์จารย์ พร้อมกันนั้นยังได้ศึกษาข้อปฏิบัติ กรรมวิธีอบรมจิตใจ ได้แก่ การเดินจงกรม นั่งสมาธิ กับ สมาทานธุดงควัตรต่างๆ ธุดงควัตร ที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ถือปฏิบัติเป็นอาจิณ หรือ ตลอดชีวิตบรรพชิตของท่าน มี 4 ประการคือ บังสุกุลกังคธุงค์ หมายถึงการถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบท จนกระทั่งเข้าสู่วัย ” ละสังขาร ” ก็ได้ผ่อนปรนใช้ผ้าจีวร ที่ชาวบ้านญาติโยมบริจาคถวายบ้าง ผ้าห่มชนิดนี้ภาบาพระเณรเรียกว่า ” คหบดีจีวร ” ธุดงควัตร ประการที่สองก็คือ ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาตมา ฉันเป็นนิตย์ แม้จะอาพาธ ไปบิณฑบาตไกลถึงละแวกหมู่บ้านไม่ได้ ก็ให้บิณฑบาตในเขตวัดบนโรงฉัน เว้นไว้เสียแต่ว่า อาพาธจนลุกขึ้นไม่ได้ จึงจะงดบิณฑบาต ธุดงควัตรประการที่สามเรียกว่า บิณฑปาติกังธุดงค์ หมายความว่า ถึงการถือฉัน ( กินข้าว )ในบาตรใช้เป็นภาชนะใบเดียวกัน เป็นประจำ นอกจากอาพาธหนักจึงงด ธุดงควัตรประการที่สี่ก็คือ ถือฉันหนเดียว หรือ กินข้าวมื้อเดียวตลอดชีวิต แม้อาพาธหนักก็มิได้ลดละ
ยังมีธุดงควัตรประการอื่นๆอีก ซึ่งท่านมิได้งดเว้น แต่พิจารณาตามความเหมาะสม และก็ได้ปฏิบัติเป็นครั้งเป็นคราว โดยเฉพาะประการที่ถือว่าได้ปฏิบัติบ่อยๆ และ อย่างต่อเนื่องก็คือ อรัญญิกังธุดงค์ หมายถึงการถืออยู่เสนาสนะในป่า ห่างจากบ้านผู้คนประมาณ 25 เส้น โดยหลีกเร้นเพื่อหาความวิเวก หรือ ความสงบสงัด ตามสมณะวิสัย โดยเฉพาะถึงยามวัยชรา แต่ก็เป็นเสนาสนะที่อยู่ไม่ไกลหมู่บ้านเกินกว่าที่จะออกภิกขาจารบิณฑบาต แต่ว่ามักจะเป็นสถานที่ หรือ บริเวณที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนก็จะเคารพยำเกรงไมรบกวน เล่าขานกันต่อๆ มาว่า พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต สมัยที่ท่านยังแข็งแรง ท่านได้ออกธุดงควัตรอย่างโดดเดี่ยว เพื่อแสวงหาความวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสัยที่ลูกศิษย์ลูกหาจะตามไปหาไม่ได้ ครั้งหนึ่งท่านขึ้นไปถึงภาคเหนือ ณ ที่อยู่ของชนเผ่ามูเซอร์บนเขาสูง
คนไม่เคยอยู่ป่า ไม่มีวันรู้ว่าความวิเวก หรือ ความสงบสงัด นั้นเป็นอย่างไร พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้แสวงหาความวิเวก ซึ่งเป็นความประเสริฐของบรรพชิตทั้งหลายไปในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง หุบเขา ซอกห้วย ธารเขา เงื้อม หรือ ชะโงกเขา เถื่อนถ้า เรือนร้าง ทั้งทางฝั่งซ้าย และ ฝั่งขวา ของแม่น้ำโขง จากนั้นก็ลงไป ” สนทนาธรรม ” กับนักปราชญ์ทางกรุงเทพฯ และ ที่ประจำของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็คือ วัดปทุมวัน หรือ วัดปทุมวนาราม ท่านชอบที่จะมีโอกาสได้สดับฟัง พระธรรมเทศนาของเจ้าพระคุณอุบาลี ( สิริจันโท บ้างเรียก สิริจันเถรจันทร์ ) ครั้งหนึ่งใช้เวลานานถึง 3 พรรษา จากนั้นก็ออกภิกขาจารไปยังพุทธสถานต่างๆ โดยเฉพาะภาคกลาง ก็มีไปถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม และถ้ำสิงโต ลพบุรี แล้วลงไปพักจำพรรษา ณ วัดปทุมวัน กรุงเทพฯ อีกพรรษาหนึ่งก่อนจะออกเดินทาง ครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตบรรพชิตของท่าน คือไปเชียงใหม่กับเจ้าพระคุณอุบาลี ( สิริจันเถระ ) และจำพรรษาในคืนแรก ณ วัดเจดีย์หลวง 1 พรรษา แล้วออกปฏิบัติธุดงค์วัตร ไปยังสถานวิเวก หลายแห่ง หลายเมือง เป็นเวลานานถึง 11 ปี เผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา และ บำเพ็ญประโยชน์ ที่มีผู้บันทึก และแบ่งแยกได้ 2 ลักษณะใหญ่คือ :
– บำเพ็ญประโยชน์เพื่อชาติ
– เทศนาอบรมสั่งสอนศีลธรรมอันดีงามแก่ประชาชน พลเมือง มิให้งมงายอยู่กับวัตถุนิยม เป็นการแสวงหาลาภอามิส
การสร้างวัตถุมงคล
วัตถุมงคลที่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้สร้างไว้นั้นได้แก่ เหรียญยันต์ 4 สร้างขึ้น ณ จ.อุบลราชธานี ระหว่างปี พ.ศ 2492 เนื่องในวาระสมโภชรูปเหมือนท่านองค์จริง เนื้อทองสำริด ขณะนั้น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จำพรรษาอยู่ ณ วัดหนองผือ อ.พรรณนิคม จ.สกลนคร สำหรับรูปเหมือนเท่าองค์จริงของท่าน ทางวัดได้จ้างโรงงานในกรุงเทพฯ หล่อขึ้น เงินค่าจ้างที่ยังคงเหลืออยู่ส่วนหนึ่ง ได้ว่าจ้างให้ช่างแกะบล๊อก สร้างเหรียญยันต์ 4 ดังกล่าว ได้ประมาณ 1,000 เหรียญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบเป็นของสมนาคุณ แก่ผู้ร่วมบุญสมโภชรูปหล่อของ พระอาจารย์มั่น ตกอยู่ในราวต้นปี พอผ่านไปถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ 2492 ( ปีเดียวกัน ) ท่านก็ถึงแก่มรณะภาพ