การจำแนกพิมพ์พระสมเด็จบางขุนพรหม
มีพิมพ์ที่รู้จักกันทั่วไป 9 พิมพ์คือ
1. พิมพ์ใหญ่ ( พิมพ์พระประธาน )
2. พิมพ์เจดีย์
3. พิมพ์ฐานแชม
4. พิมพ์เกศบัวตูม
5. พิมพ์เส้นด้าย
6. พิมพ์สังฆาฏิ
7. พิมพ์อกครุฑ
8. พิมพ์ฐานคู่
9. พิมพ์ปรกโพธิ์ ( มีน้อย )
นอกจากพระ 9 พิมพ์ นี้แล้ว ยังมีพระอีก 2 พิมพ์ ซึ่งมีน้อยมาก ก็คือ “พระพิมพ์ไสยาสน์” กับ “พระพิมพ์ฐานสิงห์” ปัจจุบันหายากมากๆ
พระสมเด็จวัดบางขุพรหม พิมพ์ใหญ่ จะมีลักษณะคล้ายเช่นเดียวกับ พิมพ์ใหญ่ของวัดระฆัง คือ พิมพ์พระสง่า คล้ายพระประธานในโบสถ์ แต่แบบพิมพ์ตื้นกว่าองค์พระ ฐานและซุ้ม มีส่วนนูนน้อยกว่าของวัดระฆัง จึงเห็นเป็นลักษณะคล้ายลางเลือน เพราะลวดลายต่างๆ คือพระพาหา ฐาน ซุ้ม มีความบาง และ ตื้นกว่าของวัดระฆัง ช่วงองค์พระชะลูดกว่าของวัดระฆัง บางองค์ก็มีความชัดเจน และ หนาบางเหมือนกับของวัดระฆัง
พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ทรงนี้จะมีลักษณะคล้ายเช่นเดียวกับ พิมพ์ของวัดระฆัง โดยทรงพระชะลูด และ ลึกดูสง่า แต่มีส่วนที่ต่างกันอยู่บ้าง คือ องค์พระชะลูดกว่า ลวดลายต่างๆ คือพระพาหา ฐาน ซุ้ม เรียวเล็กกว่า และ ส่วนมากพิมพ์บางกว่าวัดระฆัง
พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม เป็นพิมพ์ทรงคล้ายเช่นเดียวกันกับ พิมพ์เกศบัวตูมของวัดระฆัง คือ พิมพ์ที่มีลักษณะผสมระหว่าง พิมพ์เจดีย์ พิมพ์ฐานแชม และ พิมพ์สังฆาฏิ เกศไม่ยาว เกศสั้นจึงเรียกว่า เกศบัวตูม คล้ายกับพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง พระพิมพ์นี้ส่วนใหญ่จะหนากว่าพิมพ์อื่นๆ
พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย พิมพ์ทรงนี้คล้ายกับพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ แต่มีลวดลายเส้นต่างๆ คือพระพาหา พระเพลา ฐาน ซุ้ม และ องค์พระตื้นกว่าพระพิมพ์ใหญ่ พิมพ์นี้มีข้อที่จะพึงสังเกตได้ง่าย คือพระพาหา มีลักษณะเป็น เส้นเรียว และ โค้งเป็นวงเหมือนเส้นด้าย จึงเรียกกันว่า พิมพ์เส้นด้าย ฐานชั้นกลางมักไม่ปรากฏเป็นฐานสิงห์ เพราะเส้นเล็ก ฐานบนเรียวบางมาก ฐานล่างหนาเช่นเดียวกับ พิมพ์ทรงใหญ่ กรอบแบบบางกว่าพิมพ์อื่นๆ
พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ฐานแชม พิมพ์ทรงนี้มีลักษณะเหมือนกับของวัดระฆัง คือ องค์พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร มีฐานแซมที่ใต้องค์พระและฐาน พิมพ์นี้มี 2 ชนิด คือมีทั้งชนิดพระอุระเป็นร่อง “อกร่อง” หลายชนิดพระอุระเรียบไม่มีร่อง ลักษณะต่างๆ คล้ายพิมพ์วัดระฆัง มีส่วนที่ต่างกันอยู่บ้าง คือ พระพักตร์เรียวกว่า ช่วงองค์พระชะลูดและผอมกว่า ลวดลายเรียวเล็กกว่า สังฆาฏิ เป็นร่องลึกกว่า ฐานมีลักษณะเป็นเส้นเรียวแบบขีดธรรมดา ฐานชั้นที่ 3 มีลักษณะ คล้ายฐานคู่ แบบพิมพ์ตื้นกว่าของวัดระฆัง กรอบบางกว่าของวัดระฆัง พิมพ์ทรงนี้คล้ายคลึงกับพิมพ์ฐานคู่ คนรุ่นเก่ามักเรียกพระพิมพ์นี้ว่า “อกร่องหูยานฐานแซม”
พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ พระพิมพ์นี้เป็นลักษณะเฉพาะของวัดบางขุนพรหม พระลึก โดยเฉพาะเส้นสังฆาฏิ ปรากฏเป็นร่องลึกเส้นชัดเจนดี บางท่านเรียกว่า พระสังฆาฏิร่อง เพราะลักษณะสังฆาฏิ ปรากฏเห็นชัดเจน และ มีส่วนโค้งตอนผ่านพระอังสาด้วย แบ่งเป็นพิมพ์แบบมีหู กับ ไม่มีหู
พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์อกครุฑ- เศียรบาตร ( ไกเซอร์ ) พิมพ์นี้เป็นลักษณะต่างกว่าพิมพ์ทรงอื่นๆ คือ เศียรใหญ่และป้อม จึงเรียกว่า เศียรบาตร พระเกศใหญ่ พระกรรณ์ด้านบนใหญ่และสูง ด้านล่างเรียวลงมาจดพระอังสา คล้ายหูบายศรี พระอังสายกขึ้นเล็กน้อย และ งุ้มลงมาทางต้นพระพาหา พระเพลาแคบ พระชานุโค้งขึ้นเล็กน้อย พระพาหาโค้ง ช่วงพระพาหาไม่กาง หักและวาดมุมตรง ข้อพระกร ฐานไม่ปรากฏลักษณะคมหวาน และหัวสิงห์ มีลักษณะเป็นท่อนๆ ทั้ง 3 ชั้น ซุ้ม เส้นฐานของซุ้ม ไม่ปรากฏ เส้นซุ้มที่ยาวลงมาเบื้องล่าง มาหมดเพียงระดับฐานชั้นล่าง เส้นลวดซุ้มเล็ก และ แบบบาง คล้ายพิมพ์ทรงเส้นด้าย กรอบได้ฉากมีลักษณะเป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้งทรงชะลูด และ ด้วยลักษณะที่พระอุระนูนขึ้นมาเช่นนี้ จึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่า “อกครุฑ”
พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่ พิมพ์นี้มีลักษณะองค์พระทรงชะลูด คล้าย พิมพ์ทรงฐานแซม พระพักตร์เรียวแบบหน้าตั๊กแตน พระกรรณ์เป็นเส้นขีดลงมาจดพระอังสา พระเกศเป็นเส้นขีดตรงลงมาเฉยๆ พระพาหาเส้นบาง มีลักษณะเป็นวงคล้ายพิมพ์ทรงเส้นด้าย พระเพลาเรียวบาง ช่วงองค์มีลักษณะเป็นเส้นคู่กัน เป็นรอยลึกตรงกลาง คล้ายพิมพ์อกร่อง ซุ้มมีลักษณะเป็นเส้นเรียว
พระสมเด็จบางขุนพรหมพิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์นี้มีลักษณะพิเศษต่างกับพิมพ์อื่น โดยมีลวดลายประเป็นรูปใบโพธิ์อยู่ประปรายรอบพระเศียร มีสองแบบคือ ลักษณะ และ ทรวดทรงเช่นเดียวกับพิมพ์ทรงเจดีย์ กับอกร่องหูยานฐานแซม ต่างแต่มีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย พระเศียรเล็ก พระพักตร์เรียว พระเกศมีทั้งตุ้มและยาว ฐาน 3 ชั้น มีทั้งชนิดฐานสิงห์ธรรมดา และ ชนิดฐานกลางสั้นกว่าฐานล่าง และฐานบน เป็นต้น