วิธีการตกพระ
การตกพระสมเด็จฯ กรุบางขุนพรหม เปิดวิธีการแสวงหาพระเครื่องแบบหนึ่งที่ประหลาด คือใชไม้รวกลำยาวประมาณ 2 วา ทะลวงข้อออกหมด แล้วใช้ด้ายดิบควั่นกันเข้าให้เป็นเส้นใหญ่แล้วสอดเข้าไปในลำไม้ไผ่ ทางปลายเชือกขมวดให้เป็นปมใหญ่ ปลายสุดเป็นเส้นเชือกซึ่งกระจายกันเป็นพู่ แล้วใช้ดินเหนียวคลุกเคล้ากับพู่ จนเส้นด้ายเกาะดินเหนียวแน่น แล้วปั้นให้กลม ขนาดกว้างประมาณ คืบเศษ แล้วสอดลำไม้ไผ่เข้าไปทางช่องระบายอากาศของพระเจดีย์ ซึ่งเป็นกรุพระสมเด็จฯ หย่อนเชือกให้ลูกตุ้มตกลงไปกระทบพื้นในองค์พระเจดีย์ ซึ่งมีพระสมเด็จฯ กองอยู่ ลูกตุ้มก็อาจติดพระขึ้นมาบ้าง หรือ ไม่ติดบ้าง แล้วแต่โชคของบุคคล แต่ถ้าพยายามหลายครั้ง ก็มักจะได้พระกันบ้าง
การตกพระสมเด็จฯ ดังกล่าวนี้ ได้มีการกระทำกันหลายครั้ง เมื่อประมวลเป็นครั้งใหญ่ๆ ก็จะมีประมาณ 3 ครั้งดังนี้
ครั้งแรก ปี พ.ศ 2425 หลวงวิตสำรวจ กล่าวว่า การตกครั้งแรกทีเดียวนั้น ได้กระทำในราวปี พ.ศ 2425 เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ 12 ปี ( ตอนที่กล่าวนี้มีอายุ 97 ปี ในเดือน มีนาคม 05 ) สาเหตุที่มีการตกพระสมเด็จฯ ครั้งนี้ ก็เนื่องจากด้วยกิตติคุณของพระสมเด็จฯ ที่รักษาโรคป่วงให้หายได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ ได้ขจร ขจายเรื่อยมา หลังจากปีระกาป่วงใหญ่ ปี พ.ศ 2416 ซึ่งเป็นปีรุ่งขึ้น จากปีที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯสิ้น ในระยะเวลาดังกล่าวได้มีการเสาะแสวงหาพระสมเด็จฯ กันมากที่วัดระฆังฯ ก็หมดสิ้นไปแล้ว คนเก่าๆนึกขึ้นมาได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ กับเสมียนตาด้วง ได้เคยมาบรรจุพระสมเด็จฯ ไว้ที่วัดนี้ ในราวปี พ.ศ 2413 จึงได้มีผู้ริเริ่มหาอุบายในการตกกันขึ้นในครั้งนั้น และ นับว่าได้พระสมเด็จฯ ไปเป็นจำนวนมากที่สุด เพราะเป็นการตกครั้งแรก
ครั้งที่สอง ปี พ.ศ 2436 ( ร.ศ. 112 ) หลวงศรีสารบาญ กล่าวว่า ในการตกครั้งนั้น เนื่องจากมีการตื่นตัวกันมาก ในกรณีที่ฝรั่งเศสรุกรานเมืองไทย คาดกันว่าสงครามระหว่างไทย กับ ฝรั่งเศสคงจะเกิดขึ้นแน่ ประชาชนคนไทยมีความเคืองฝรั่งเศสเป็นอย่างยิ่ง ต่างเตรียมตัวพร้อมที่จะอาสาสมัครเข้าทำการสู้รบกัยสัตรู และ ต่างก็มาที่วัดใหม่บางขุนพรหม เพื่อตกพระสมเด็จฯ เอาไปปกป้องคุ้มครองตัว สมัยนั้นข้าพเจ้า อยู่ที่วัดมหรรณพ์ฯ พอรู้ข่าวว่ามีการตกพระสมเด็จฯ กันอีกก็รีบไปที่วัดใหม่บางขุนพรหม แต่เช้า ประสงค์จะตกกับเข้าบ้าง แต่พอมาถึงลานวัดก็ฝูงชนออกันแน่นเต็มไปหมดแล้ว ต่างเบียดเสียดแย่งกันเข้าตก ในตอนนั้น พระอักษรสมบัติ ( เสมียนตราเปล่ง ) คหบดีผู้มั่งคั่งในย่านบางขุนพรหม อยู่ในฐานะเป็นผู้ดูแลควบคุมการตก เพราะเป็นทายาทชั้นหลานของเสมียนตราด้วง ผู้ปฏิสังขรณ์พระอารามนี้ และ รวมทั้งเป็นเจ้าของพระสมเด็จฯ กรุนี้ พระอักษรสมบัติเป็นผู้ใหญ่ที่มีคนนับถือกันมากในย่านนั้น คนของคุณพระเมื่อตกพระสมเด็จฯได้ ก็พากันเอามาแบ่งให้คุณพระเสมอ จนจัดได้ว่า พระอักษรสมบัติ มีพระสมเด็จฯ ที่ตกได้ในครั้งนั้นมากที่สุด กล่าวกันว่าไม่ต่ำกว่า 500 องค์ และราคาที่เช่าบูชากันตอนนั้น ตกองค์ละประมาณ 20 บาท เป็นอย่างสูง เนื่องจากพระอักษรสมบัติได้พระสมเด็จฯ มาไว้มาก รวมทั้งองค์ที่หักชำรุดด้วย ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าองค์ที่สมบูรณ์เรียบร้อย ท่านจึงได้นำเอาเศษพระสมเด็จฯที่แตกหักต่างๆ มาบด แล้วพิมพ์เป็นพระสมเด็จฯขึ้นใหม่ คล้ายลักษณะเดิม แต่เนื้อมีลักษณะใหม่ และ มีความหนาแน่นกว่าแบบเดิม แล้วนำไปบรรจุไว้พระเจดีย์กรุพระสมเด็จฯ เดิม อีกคำรบหนึ่ง
ครั้งที่สาม การตกใหญ่ครั้งสุดท้าย ปี พ.ศ 2450 นายตั้งธนโกเศศ ( บุตร ขุนธนโกเศศ ) กล่าวว่า การตกครั้งนี้เป็นการตกครั้งใหญ่ มีผู้คนมาตกเป็นอันมาก และ ทำการตกกันยืดเยื้อเป็นแรมเดือน ในตอนท้ายนั้นไม่ค่อยจะได้พระ เพราะงวดจำนวนลงไปมาก และ มักจะได้แต่อิฐ ซึ่งมีเสมอทุกครั้งในการตก จึงมีผู้คิดอย่างแยบคายขึ้นว่าให้ใช้น้ำเทกรอกลงไปทางช่องระบายอากาศ เพื่อให้น้ำเซาะดินที่ปกคลุมพระละลายออก จะทำให้พระผลุดขึ้นมา และ เมื่อมีการปฏิบัติเช่นนั้น คือเทน้ำลงไปนับด้วยจำนวนร้อยๆปี๊บ และ บางครั้งเทอยู่ตลอดคืน ครั้นรอให้น้ำซึมออกไป และ ภายในกรุแห้งดีแล้ว จึงลงมือตกอีก ปรากฏว่าได้พระขึ้นมาอีกจำนวนไม่น้อย หลังการตกครั้งใหญ่ครั้งนี้แล้ว คงมีการตกกระเส็นกระสายเรื่อยมาอีกหลายเดือน จึงค่อยๆเลิกรากันไป